อย่าให้ น้ำตาลุกเป็นไฟ!! “พิธา”เหลืออด เสนอญัตติ ชง ยุบ ศบค. โละทิ้งครม.”บิ๊กตู่”

หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา “ยุบ ศบค.-ปรับ ครม.รัฐบาลบิ๊กตู่” ทลายทุกคอขวด ร่ายยาววิธีแก้ไข ก่อนน้ำตาประชาชนจะลุกเป็นไฟ

วันที่ 1 ก.ค.64 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาพิจารณาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาและผลกระทบของโรคติดเชื้อโควิด และเสนอแนะต่อรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 76/2563 ยุบ ศบค. เพื่อมีมติส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินต่อไป

จากนั้นอภิปรายว่า 90 นาทีต่อหนึ่งคน คือ สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยในหนึ่งปีที่ผ่านมา มากที่สุดในรอบ 24 ปี ยังไม่นับ 1,800 ชีวิต ที่ต้องสูญเสียในช่วงที่ผ่านมา ต้องใช้น้ำตาอีกกี่หยด ใช้ชีวิตคนไทยอีกกี่ชีวิต กว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะตื่นและได้ยินเสียงร้องไห้ของพี่น้องประชาชนคนไทยเสียที และยังไม่นับว่าโควิดระลอก 3 มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วอีก 6,500 คน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 500,000 ล้านบาท คนว่างงานและคนถูกลดชั่วโมงทำงานอีก 5,000,000 คน ร้ฐบาลมักอ้างว่า ทุกประเทศก็เหมือนกัน ทุกประเทศก็ลำบาก ควรต้องเลิกอ้างได้แล้ว เพราะเวลานี้ไทยแย่กว่าอเมริกา แย่กว่าอินเดีย และแย่กว่าค่าเฉลี่ยขอเอเชียถึง 2 เท่านายพิธา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเช้ามีความตั้งใจตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี เป็นคำถามพื้นๆ ว่า ในปัญหาที่ตนกล่าวถึงข้างต้น รัฐบาลจะตั้งรับปัญหาอย่างไร ข้อสองจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนจากเชิงรับเป็นเชิงรุก และข้อสามคือคำถามค้างคาใจของทุกคนเกี่ยวกับวัคซีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อวานนี้ ส.ส.รัฐบาล ก็ไม่มาประชุม วันนี้พอสภาตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีก็ไม่มีใครมาตอบ ดังนั้นวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ตนจะอดทนแบบนี้ เพราะอดทนมามากพอแล้ว นายกฯมีทั้งอำนาจ มีทั้งงบประมาณ แต่ปล่อยให้คนไทยตายเป็นใบไม้ร่วงกันแบบนี้รับไม่ได้ ก่อนที่น้ำตาประชาชน จะลุกเป็นไฟ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตนเสนอให้ยุบ ศบค.ไปเสีย

“หลักการบริหารในภาวะวิกฤติถูกต้องที่ต้องมีการรวมศูนย์เพื่อลดคนตัดสินใจ จะได้มีความไว มีเอกภาพ และมีทั้งคนรับผิดและคนรับชอบ ไม่ใช่มีอำนาจแล้วไม่รับผิดชอบ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือตัวเลขต่างๆ ที่พูดไป สะท้อนว่าทุกอย่างกลับตาลปัตรหมด กลายเป็นว่า ศบค.มีไว้ทำไม กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ งบซ้อนงบ ที่ต้องไปตามตรวจสอบกันต่อ นอกจากไม่ทำตามหลักบริหารในภาวะวิกฤติที่ผู้นำควรทำแล้ว การสื่อสารยังสับสน ไม่รู้ใครตัดสินใจ ช้าเกินไป สายเกินไป น้อยเกินไป ทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นผลดีทั้งนั้น ดังนั้นจึงต้องยุบ ศบค. เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติที่ตรวจสอบได้ เป็นทิศทางเดียวกัน และแก้ปัญหาได้” นายพิธา กล่าว