บิ๊กตู่ ร่ายยาว แจงงบฯ ปี65 ห่วงโควิดฉุดศก. ยัน รบ.กลั่นกรอง เข้มงวดป้องทุจริต

นายกรัฐมนตรี ร่ายยาวแจงงบปี 65 ห่วงโควิดฉุดศก.ปี 64ไม่โตตามเป้า กังวลเอสเอ็มอียังไม่ฟื้น หนี้ครัวเรือนฟุบ แจงยุทธศาสตร์ใช้งบ 6 ด้าน สั่ง กนง.คงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ผ่อนคลายภาวะการเงิน ใช้งบโปร่งใส-ตรวจสอบได้

วันที่ 31 พ.ค.2564 เวลา 09.50 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ในวาระรับหลักการ โดย ก่อนเข้าสู่วาระประชุม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า การอภิปรายงบประมาณวาระแรก ใช้เวลา 3 วัน มีเวลา 47ชั่วโมง 30นาที เป็นของฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านฝ่ายละ 22 ชม . ประธานในที่ประชุม 3 ชั่วโมง 30นาที การอภิปราย จะพิจารณาจนถึงเวลา 01.00น.ของทุกวัน ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ชี้แจงว่า กังวลเรื่องประท้วงขัดจังหวะขอให้มีน้อยลง เพื่อบริหารจัดการเวลาให้ลงตัว ขอให้ประธานควบคุมด้วย

จากนั้นเวลา 10.00 น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี2565 ตั้งไว้ 3.1ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินงบประมาณแบบขาดดุล โดยดำเนินการให้สอดคล้องสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม รวมทั้งการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2564 ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนนำไปสู่การดำเนินมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางตลาดแรงงานและกิจกรรมทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และความผันผวนของ เศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศภายหลังการเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขของการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวนับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค. 2564 มีจำนวน 8.47ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เม.ย. 2564 มีจำนวน 3.72 แสนล้านบาท การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรกและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนก.พ. และมี.ค. 2564 ที่ร้อยละ 0.5 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลาย สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการช่วยดูแลภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้และเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2.4 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 7 แสนล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.36 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.1 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 5.96 ร้อยล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 2.49 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.24 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน10.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประมาณการการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวน ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1.85 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับรายจ่ายลงทุนที่ต้องดำเนินการ รัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ได้แก่ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP) โดยเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่จะดำเนินการในปี 2565 เร่งรัดการลงทุนของหน่วยงาน ตามแผนการใช้จ่ายจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) รวมทั้งการลงทุนโดยใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“รัฐบาลได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการภายใต้ร่างพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ งบประมาณรายจ่ายฯ”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี2565 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง 387,909 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของวงเงินงบประมาณ 2.ด้านการสร้างความสามารถการแข่งขัน 338,547 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การก่อสร้างทางหลวงชนบท การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 548,185.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของวงเงินงบประมาณ พัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ให้มีคุณภาพ เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 733,749.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 119,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 เพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 559,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ18ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การส่งเสริมภาครัฐดิจิทัลโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชนการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ยืนยันรัฐบาลได้กลั่นกรองการใช้งบประมาณอย่างรอบคอบ จะเข้มงวด กวดขันป้องกันทุจริตการใช้งบประมาณ พร้อมให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบ และ จะใช้งบประมาณอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดความโปร่งใส