ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กางหลักกม.อาญาไทย งัด 3ประเด็น โต้ คำวินิจฉัยศาลรธน. ปมคุณสมบัติ “ธรรมนัส” ชี้ เป็นเหตุผลที่ยากจะยอมรับ
วันที่ 10 พ.ค.2564 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความทางวิชาการเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ กรณีถูกร้องจากการถูกตัดสินให้มีความผิดฐานค้ายาเสพติดและถูกตัดสินจำคุกที่ประเทศออสเตรเลีย ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดย ระบุว่า
ความยุติธรรมไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้เห็นว่าที่ทำลงไปนั้นคือความยุติธรรม
ปัญหาของ คำวินิจฉัยล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ
ปัญหาของคำวินิจฉัยล่าสุดของ ศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ใช่ตัวคำวินิจฉัยที่ให้รัฐมนตรีคนหนึ่งพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่ง แต่คือ เหตุผลของคำวินิจฉัย ที่คนจำนวนมากอ่านแล้วรู้สึกยากจะยอมรับครับ
ประเด็นในการวินิจฉัยโดยสรุปคือ การตีความคำว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุด” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) ซึ่งกำหนดว่า ผู้ที่ “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” ตามกฎหมายต่างๆ (ซึ่งมี “กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า” อยู่ด้วยนั้น) จะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และจะต้องห้ามมิให้เป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และหากเป็นรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 นั้น หมายถึง คำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลประเทศอื่น ด้วยหรือไม่?
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยให้เหตุผลสรุปได้ 3 ประการ คือ หนึ่ง ศาลไทยไม่อยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของศาลประเทศอื่น สอง การกระทำที่ผิดกฎหมายประเทศอื่นอาจไม่ผิดกฎหมายไทย และสาม การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ อาจทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมของศาลต่างประเทศได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญท่านจึงตีความว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” ที่จะทำให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้นั้น ต้องเป็น คำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลไทยเท่านั้น ดังนั้น รัฐมนตรีผู้ถูกร้องจึงไม่พ้นจากตำแหน่ง
ด้วยความเคารพ ผมเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาหลายประการที่จำต้องเขียนโต้แย้ง ซึ่งผมขอให้เหตุผลไปทีละประเด็น ดังต่อไปนี้ครับ
(1) เหตุผลแรกของศาลรัฐธรรมนูญคือ #อำนาจตุลาการของไทยไม่อยู่ภายใต้อำนาจตุลาการของประเทศอื่น ถ้าเรายอมรับคำพิพากษาของศาลประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยไม่มีสนธิสัญญาที่จะยอมรับคำพิพากษาของกันและกัน ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าจะ “ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือน”
ผมเห็นว่าเหตุผลนี้ควรต้องมีการโต้แย้ง เพราะหลักกฎหมายอาญามีหลักสำคัญหลักหนึ่งคือ #ไม่มีการลงโทษซ้ำในการกระทำที่มีการลงโทษไปแล้ว (ne bis in idem) ซึ่งรวมถึงการลงโทษจากคำพิพากษาของศาลประเทศอื่นด้วย ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยได้ใช้หลักนี้โดยบัญญัติไว้ที่มาตรา 10 ว่า “ผู้ใดกระทําการนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตราต่างๆ .. ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก ถ้า .. (2) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ และผู้น้ันได้พ้นโทษแล้ว”
ทั้งนี้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 5 (1) บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย” จึงทำให้คนไทยที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในต่างประเทศจะต้องรับโทษในประเทศไทยด้วยนั้น วรรคสองของมาตรานี้บัญญัติให้นำมาตรา 10 ของประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลมครับ
หมายความว่า ประมวลกฎหมายอาญาของไทยมีหลักให้ #ยอมรับคำพิพากษาของศาลประเทศอื่น ในกรณีที่ศาลประเทศนั้นพิพากษาให้ลงโทษและผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษจนพ้นโทษแล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องมีการลงโทษซ้ำต่อการกระทำที่ถูกลงโทษไปแล้ว และกฎหมายยาเสพติดของประเทศไทย ก็กำหนดให้นำหลักนี้มาใช้ โดยไม่ต้องมีสนธิสัญญายอมรับคำพิพากษาระหว่างกัน หรือจะเป็นการกระทบต่ออำนาจอธิปไตยแต่ประการใดครับ
ว่าง่ายๆ คือถ้าใครต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดที่ประเทศอื่นและรับโทษครบแล้ว กฎหมายไทยก็กำหนดไม่ให้มีการดำเนินคดี พิพากษา และลงโทษเขาที่ประเทศไทยอีก แต่ถ้าไปกระทำในต่างประเทศแล้วยังไม่ถูกพิพากษาให้รับโทษ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีในประเทศไทย และอาจจะต้อง “คำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด” และทำให้เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ดังนั้น การปฏิเสธไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศโดยสิ้นเชิงในการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีโดยอ้างเหตุผลเรื่องอำนาจอธิปไตยของศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายอาญาของไทย และเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด
(2) เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญประการที่สองคือ #กฎหมายอาญาของแต่ละประเทศกำหนดฐานความผิดไว้แตกต่างกัน โดยชี้ว่า “การกระทำอย่างเดียวกันกฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิดแต่กฎหมายของไทยอาจไม่กำหนดให้เป็นความผิดก็ได้” ดังนั้น จึงเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ไม่ได้