ซูเปอร์โพล สำรวจความเห็นประชาชน ถึงความเชื่อมั่นขององค์กรอิสระ ชี้ ปชช. ส่วนใหญ่ ไม่ไว้วางใจ กกต. ปปช.และ ศาลรธน. โดยได้คะแนนต่ำกว่าครึ่ง
วันที่9 พ.ค.2564 นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ประเมินองค์กรอิสระ รธน. 60 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวน 1,293 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 8 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
จากการพิจารณา ค่าความวางใจของประชาชนต่อ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 พบว่า ค่าความวางใจของประชาชนที่ได้ต่ำกว่าครึ่งและต่ำสุดคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ร้อยละ 41.23 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร้อยละ 42.28 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร้อยละ 43.47 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ร้อยละ 48.62 มีความหมายว่า ได้รับความวางใจจากประชาชนต่ำกว่าครึ่งมีเพียงคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน เท่านั้นได้รับความวางใจจากประชาชนเกินครึ่งคือร้อยละ 54.01 และร้อยละ 55.65 จากคะแนนเต็ม 100 อย่างไรก็ตาม ค่าความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 โดยภาพรวมได้ต่ำกว่าครึ่งคือร้อยละ 45.20 เท่านั้น
นอกจากนี้ ที่น่าห่วง คือ ผลประเมินด้านต่าง ๆ ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 พบว่า ได้รับผลการประเมินต่ำกว่าครึ่งทุกตัวชี้วัด ได้แก่ การยึดหลัก นิติธรรม ได้ร้อยละ 46.48 ด้านคุณสมบัติของผู้นำองค์กรอิสระที่ดีได้ร้อยละ 45.91 ด้าน ยึดหลัก จริยธรรม ได้ร้อยละ 43.33 ด้านความน่าเชื่อถือ ได้ร้อยละ 43.07 ด้านความโปร่งใส ได้ร้อยละ 39.64 ด้านความยึดโยงกับประชาชน ได้ร้อยละ 37.42 ด้านประชาชนได้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 35.31 ด้านการตรวจสอบได้ ได้เพียงร้อยละ 35.27 ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้ร้อยละ 33.81 และด้านความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ได้ต่ำสุดคือร้อยละ 33.16 ตามลำดับ
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลการทดสอบปัจจัยที่สำคัญที่สุดและรอง ๆ ลงไป ที่มีผลต่อความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 โดยรวม ด้วยการทดสอบสถิติ Multiple Regression Analysis พบว่า ปัจจัยต่าง ๆ ที่ถูกศึกษาโดยรวมมีความสัมพันธ์ระดับมากถึงร้อยละ 87.4 กับความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 และสามารถอธิบายความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 ด้วยปัจจัยด้านต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตามลำดับ ดังนี้ ความโปร่งใส (beta = .113) ความน่าเชื่อถือ (beta = .110) การยึดหลักนิติธรรม และคุณสมบัติของผู้นำองค์กรอิสระที่ดี เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ ความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ถ้าประชาชนพอใจต่อ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (beta = .246) คณะกรรมการ กกต. (beta = .130) ศาลรัฐธรรมนูญ (beta = .103) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (beta = .102) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. (beta = .078) จะส่งผลให้ ประชาชนพอใจต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการศึกษาครั้งนี้