“สัณหพจน์”จี้!!”พาณิชย์-เกษตร”เร่งบูรณาการ แก้ปัญหา”พริกเขียว”พื้นที่”เมืองคอน”

ส.ส.พปชร.”เมืองคอน” ติง กรมการค้าภายใน ให้วางกรอบการรับซื้อ “พริกเขียว” อย่างเป็นรูปธรรม มีมาตรการเดียวกัน ชัดเจน หลังเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง เดือดร้อนหนัก ขายพริกขาดทุน แนะ”เกษตรฯ-พาณิชย์” บูรณาการทำงานร่วมกัน

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต2 จ.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวถึงกรณี กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือ รับซื้อพริกขี้หนูดวงมณี หรือ พริกเขียวหัวไทร ราคากก.ละ 5 บาท จำนวนเป้าหมาย 3,000 ตัน ว่า วานนี้ (5 พ.ค.64) ได้ทราบข้อมูลจาก ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.เขต 4 จ.สงขลา พปชร.ถึงกระบวนการรับซื้อพริกเขียวในพื้นที่จ.สงขลา

พบว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา ได้ประสานให้ผู้รับซื้อพริกเขียว จากเกษตรกรในพื้นที่ อ.ระโนด และ อ.สทิงพระ ในราคา กก.ละ 10 บาท แล้ว พร้อมทั้งบันทึกหลักฐานการรับซื้อ จากเกษตรกรแต่ละราย เพื่อจะได้สนับสนุนงบช่วยเหลือ 5 บาท/กก.ให้กับเกษตรกร โดยมีจำนวนการรับซื้อที่ 1,000 ตัน

ขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช เกษตรกรผู้ปลูกพริกในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 1,072 ราย พื้นที่ปลูกกว่า 2,000 ไร่ ใน 6 อำเภอคือ เชียรใหญ่ ชะอวด หัวไทร ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ และ อ.เมือง ผลผลิตรวมประมาณ 10,117 ตัน/ฤดูกาล ยังคงประสบปัญหา เนื่องจากผู้รับซื้อ ให้ราคา กก.ละ 7-8 บาท จากที่ก่อนหน้านี้ 2-3 วันที่ผ่านมา ราคาพริกเขียวตกต่ำจนถึง กก.ละ 6 บาท โดยผู้รับซื้อแจ้งว่ายังไม่ได้รับการประสานงานจากหน่วยงานราชการใดๆ

ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ทำให้ส่วนใหญ่ยังไม่เก็บผลผลิต เพื่อรอการอนุมัติงบช่วยเหลือจากกรมการค้าภายในก่อน ขณะเดียวกันช่วงนี้ มีฝนตกหนัก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกุ้งแห้ง ซึ่งจะทำให้พริกยืนต้นตาย จะทำให้เกษตรกรขาดทุนยิ่งขึ้น เบื้องต้นทราบแต่เพียงการกำหนดจำนวนรับซื้อที่ 1,000 ตัน เท่ากันทั้ง 2 จังหวัดคือ จ.สงขลา และจ.นครศรีธรรมราช หากเทียบจำนวนผลผลิตแล้ว จ.สงขลา ผลิตได้วันละ 20 ตัน ขณะที่จ.นครศรีธรรมราช มีผลผลิตพริกออกสู่ตลาดมากถึงวันละ 80-100 ตัน ผลผลิตรวมต่อฤดูกาลถึง 10,117 ตัน/ฤดูกาล ซึ่งตนมองว่า มีสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นจึงอยากให้ กรมการค้าภายใน กำหนดกรอบการรับซื้อพริกเขียวจากเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพราะหากปล่อยไว้นาน จะทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยจำเป็นจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ภาคประชาชนสังคม และ ส.ส.ในพื้นที่ พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่