จรดปากกาเขียนสันติ “หลัง รอย ยิ้ม : เรื่องเล่าพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้”

เขียนวันที่ วันอังคาร ที่ 14 มีนาคม 2560 เวลา 07:36 น.เขียนโดยisranews หมวดหมู่สารคดี | Isranews

 

หลัง รอย ยิ้ม : เรื่องเล่าพลิกฟื้นตัวจนและชุมชนชายแดนใต้ | ฐิตินบ โกมลนิมิ | โซรยา จามจุรี | หมู่บ้านกูจิงลือปะ | ความรุนแรง3จังหวัดชายแดนใต้ | ครูจูหลิง | ไฟใต้

☆●☆หากหัวใจในการแสวงหาสันติภาพ คือการต่อสู้ทางการเมือง การเขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น  จุดเริ่มต้นของการเขียนสันติภาพในพื้นที่ เกิดอะไรขึ้น มีอะไรบ้าง หลัง รอย ยิ้ม :เรื่องเล่าพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้

 

กว่าสิบปีแล้วสำหรับความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่จนวันนี้ก็ดูเหมือนยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถเจรจาหาทางออกได้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้สร้างฝันร้ายมากมายให้ผู้คนโดยเฉพาะกับคนในพื้นที่

หลายครอบครัวสูญเสียบุคคอันเป็นที่รักแบบไม่มีวันกลับอีกหลายครอบครัวต้องสูญเสียหัวหน้าครอบครัวด้วยคดีความมั่นคง ความอัดอั้นที่ไม่เคยถูกบอกเล่า ความหวาดระแวงขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ หรือแม้แต่คนในชุมชน ทั้งฝั่งมุสลิมกับไทยพุทธเอง

 

ขณะที่รัฐกำลังดำเนินมาตรการทางการเมือง ความพยายามพูดคุยกับแกนนำผู้ก่อการ กลุ่มผู้หญิง ที่ดูเหมือนจะเป็นเพศที่เปราะบาง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต่างคนต่างไม่ไว้ใจ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้และองค์กรภาคี  ลุกขึ้นเป็นตัวกลางจัดพื้นที่สานเสวนาในระดับชุมชน  เครื่องมือที่ได้ริเริ่มใช้นำร่องในบางพื้นที่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงในมิติต่างๆ

เวทีสานเสวนากับเจ้าหน้าที่รัฐ มุ่งสร้างความเข้าอกเข้าใจ และความไว้วางใจซึ่งกันเเละกันระหว่างผู้คนที่มีความคิดเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นหนทางหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองไปสู่หนทางสันติภาพ สันติสุข และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม

 

“โซรยา จามจุรี” เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เล่าว่า พื้นที่ที่เลือก คือพื้นที่สีแดง มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีความหวาดระแวงกันและกันสูงมาก ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน การจัดสานเสวนาจึงเป็นพื้นที่กลางเปิดโอกาสให้คนที่เห็นแตกต่างกัน มีโอกาสมาแลกเปลี่ยน ฟังกันและกัน

“การสานเสวนาไม่ใช่เเค่การพูด แต่คือการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังคนที่เห็นต่างอย่างเรา ในภาวะที่มีความหวาดระแวงสูงมาก เราใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อให้คนฟัง”

ทำไมถึงต้องเน้นผู้หญิง โซรยา บอกว่า  เพราะเขาคือคนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ชายตายหรือโดนจับกุมไป ผู้หญิงคือคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะชีวิตที่เหลือพวกเธอรับผิดชอบทั้งหมด แบกรับครอบครัวไว้ การจัดสานเสวนา เราจะเป็น กึ่งๆ คนกลาง ก่อนจัดสานเสวนาในแต่ละพื้นที่ จะมีการจัดฝึกอบรมในเรื่องนี้ก่อน

ท่ามกลางความหวาดกลัว ไม่ไว้ใจกัน การจัดพื้นที่เสวนาระหว่างคนสองฝั่ง การจะจับคู่ความหวาดระแวงนั้น โซรยา อธิบายว่า ต้องดูบริบทพื้นที่ อย่างพื้นที่ บ้านพ่อมิ่งเราเห็นความหวาดระแวง เจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน คล้ายกับบ้านกูจิงลือปะ ที่ภายหลังเหตุการณ์ครูจูหลิง เราก็เอาเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านมาพูดคุยกัน ตอนนั้นมีรอยร้าวระหว่างผู้คน เราก็จัดสานเสวนา

ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์จับ ‘ครูจูหลิง ปงกันมูล’  ครูไทยพุทธและเพื่อนเป็นตัวประกัน มีคนมาลอบทำร้ายจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา นับจากเดือนพฤษภาคม 2549 เป็นต้นมา หลังจากนั้นความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ก็กลายเป็นฝันร้าย ถูกสาปในห้วงเวลาที่ผ่านมา หลายเรื่องราวความสูญเสีย อีกหลายชีวิตและผลกระทบอื่นๆ ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ

โจทย์ใหญ่คือ จะฟื้นความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจภายในชุมชนขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร โซรยา เล่าต่อว่า  หลังเหตุการณ์ครูจูหลิง มีคนตายอีก 13 คน มีทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้หญิง มีแม่และลูกที่โดนยิงตายพร้อมกัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งทำหน้าปกป้องครูในที่สุดถูกยิงตาย ส่วนคนในชุมชนที่เจ้าหน้าที่ต้องสงสัย และถูกควบคุมตัวไปซักถามโดยอาศัยกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงรวมแล้วเกือบร้อยคน เฉพาะที่โดนหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 57 คน

“ตอนที่เรามีโอกาสไปเยี่ยม แม่ครูจูหลิง แกยังถามถึงผู้ใหญ่บ้านคนนี้ พอบอกว่า ตายแล้ว เขาก็ตกใจ” โซรยา จำภาพความสูญเสียของคนในชุมชน และว่า ภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกสะท้อนออกไปภายนอก คนในสังคมเกลียดชัง ชุมชนถูกตัดขาดจากสังคมไทย เรารู้สึกว่าจะปล่อยให้เกิดความโดดเดี่ยวไม่ได้อีกต่อไป เราต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ได้คุยกัน เพื่อปลดล็อคตรงนั้นได้ก่อน วันนี้มีกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับการปล่อยตัวจากคดีความมั่นคง อยากเรียกร้อง เรื่องการกลับคืนสู่สังคม สังคมจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นหรือไม่

[ต่อ2]

☆●☆”คอลีเย๊าะ มะลี” ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงที่ทั้งคนในครอบครัว และคนในชุมชนรอบตัวโดน เล่าถึงการได้เข้าร่วมสานเสวนาทำให้กล้าพูด กล้าที่จะลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหา กล้าคัดค้านหากมีเจ้าหน้าที่จะเข้ามาตรวจค้น

“ตอนแรกคิดว่า เราได้รับผลกระทบที่สาหัสไม่รู้จะทำอย่างไร ลำบากมากได้แต่ขอพรต่อพระเจ้า อยู่มาวันหนึ่ง ทางเทศบาลโทรมาว่า ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพจะเข้ามาเยี่ยม ได้พูดคุยกัน จนวันหนึ่งทางเครือข่ายฯ ให้เขียนเล่าเรื่องความทุกข์ความลำบากที่สามีโดนบังคับคดีส่งเรื่องไปยังศอบต. จากนั้น ศอบต. รับเรื่อง และต่อมาได้ไปสานเสวนา ซึ่งในครั้งที่สองที่ได้ไป เป็นการพูดคุยระหว่างไทยพุทธมุสลิม ได้เปิดอก ได้ทำความเข้าใจ รู้สึกว่า ดีขึ้น เวลาผ่านไปเรามีรอยยิ้มให้กันมากขึ้น”

ในส่วนของครั้งที่สามระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ เธอบอกว่า ได้อธิบายเรื่องความกังวล เพราะไม่รู้กฏหมาย แต่หลังเสวนากล้าพูดกล้าขอให้มีคนกลางทุกครั้งที่จะมีการตรวจค้นบ้านเรือน ชุมชน

เช่นเดียวกับ “ละออ พรหมจินดา” หนึ่งในตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบชายแดนใต้  เหตุการณ์ลอบยิง  สำหรับเธอวันนี้กระบวนการเยียวยาสนับสนุนสร้างอาชีพ ทำน้ำพริกสมุนไพร ป้าละออ ส่วนเล็กๆ ของกลุ่ม ตรงนี้ช่วยให้ภายนอกรับรู้สิ่งต่างๆ ในชุมชนของเรามากขึ้น

เธอเล่าว่า สิ่งที่เจอจากความต่าง เกิดความระแวง  ไม่ว่าคนไทยพุทธมีน้อย แต่ที่ผ่านมาเรามีน้ำใจให้กันนานมาแล้ว มาวันนี้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องของความต่างศาสนา

“กระบวนการสานเสวนา ทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เรามีที่พึ่ง เราได้ระบาย มีความสุขที่ได้พูดคุย รู้ถึงหัวอกของคนที่ได้รับผลกระทบ รู้สึกเขาอัดอั้นอย่างไร เข้าใจกันมากขึ้น”

อีกหนึ่งในตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบชายแดนใต้ “ยาการียา สะแปอิง”  เผยความในใจว่า ตอนแรกเหตุการณ์วุ่นวายไปหมด  หลังจากไปร่วมสานเสวนา เราในฐานะผู้นำศาสนา มีความมั่นใจแสดงออกความเป็นผู้นำ ได้ความรู้ได้แสดงความเห็น ที่ผ่านมาไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก พยายามพูดให้เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าใจ สุดท้ายนิดๆ หน่อยได้แก้ปัญหา

“มาวันนี้เกิดความไว้ใจเจ้าหน้าที่มากขึ้น เพราะมีคนกลางที่คอยให้คำปรึกษา ถ้าไม่มีเราก็ไม่รู้ว่าพูดไปแล้วทางโน้นจะรับหรือไม่รับ อย่างน้อยมีคนกลางเรามั่นใจว่า มีคนฟัง”

ยาการียา สะท้อนว่า สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านหวาดระแวงเจ้าหน้าที่มากที่สุด นั่นคือการไม่เข้าใจกฎหมาย ไม่มีความรู้ เจ้าหน้าที่ทำงาน ปิดล้อมตรวจค้น ชาวบ้านอาจรู้สึกว่า ไม่ถูกต้อง ก็เลยมีปัญหา คิดว่าเจ้าหน้าที่ทำให้ยุ่งยาก นานๆ ก็สะสมเป็นความบาดหมาง วันนี้เราสามารถอธิบายได้มากขึ้นถึงกระบวนการทางกฎหมาย มีการต่อรองมากขึ้น