“สุขุม”เชื่อ “เต้น” ไม่ร่วมวง”จตุพร” แต่เมื่อสถานการณ์สุกงอม โดดเอาแน่

“สุขุม นวลสกุล” เชื่อว่า “ณัฐวุฒิ” จะไม่เข้าร่วม “จตุพร” ปลุกมวลชน 4 เม.ย.64 ต้านรัฐบาล”บิ๊ตู่” แต่ ในอนาคต เมื่อสถานการณ์สุกงอม จะกระโดดลงมาเอง หลังจาก เคยประกาศจุดยืนที่จะอยู่เคียงข้าง ประชาธิปไตย

วันที่1 เม.ย.64 นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวว่า แกนนำ นปช.มีปัญหาดูคล้ายกับไม่เชื่อใจ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. และการนัดชุมนุมในวันที่ 4 เมษายน ตนก็เชื่อว่านายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คงไม่ไปร่วมกับนายจตุพร ที่มีเป้าหมายเพียงแค่ขับไล่นายกรัฐมนตรี

ส่วนกรณีที่นายณัฐวุฒิ จะออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนหรือไม่เป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะยืนยันจุดเดิมในแนวประชาธิปไตยถือว่าเป็นกำลังใจให้กลุ่มเยาวชน สำหรับสิ่งที่แถลงอาจสะท้อนภาพให้เห็นว่าการต่อสู้ยังเป็นหน้าที่หรือไม่ ที่จะต้องทำให้จบ แต่จะทำอย่างไรก็ต้องดูความพร้อมอีกระยะ แค่คาดว่าคงไม่นาน เพราะที่ผ่านมาการตั้ง 3 เงื่อนไขของกลุ่มเยาวชน มีบางเรื่องทำให้ประชาชนไม่กล้าจะติดตาม ทำให้กระแสความน่าสนใจเคยพุ่งสูงเมื่อกลางปีก่อนลดน้อยลง และปัจจุบันกลุ่มแนวร่วมทั้งหลายก็ไม่เคยประกาศจะลดเงื่อนไขบางเรื่อง ยังยืนยันแนวเดิม เพราะเชื่อว่ายังสามารถปลุกเร้าคนรุ่นเดียวกันได้ การเคลื่อนก็เป็นการจัดตั้งมวลชนชั่วคราว เพราะไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนการปักหลักพักค้าง

ดังนั้นต้องรอดูว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันกระแสการเคลื่อนไหวจะพุ่งสูงด้วยปัจจัยอะไรบ้าง เชื่อว่ากลุ่มแนวร่วมใหม่ๆ รวมทั้งกลุ่ม นปช. ที่จะออกมาเคลื่อนไหวผสมโรง จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ หรืออาจจะรอให้มีจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ฟันธงไว้ล่วงหน้าว่าตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป บ้านเมืองจะหาความสงบไม่ได้ จะมีกลุ่มที่สนับสนุนและไล่รัฐบาล แต่คงไม่ถึงขั้นเกิดความรุนแรง มวลชนที่ขับไล่ก็อาจจะนวดไปเรื่อยๆ เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป

ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนก็คงปกป้องรัฐบาลด้วยวิธีการแบบเก่าที่เคยใช้ได้ผลดี เพราะฉะนั้นทั้งนายณัฐวุฒิ นายจตุพร และ นปช. คงทราบดีว่าการทำมวลชนเพื่อต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันจะไม่เหมือนในอดีต เพราะการเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ออกมาต่อสู้ไม่ได้เอาอำนาจเข้าตัว หรือไม่ได้สู้เพื่อแย่งชิงอำนาจให้กับพรรคการเมืองที่อยู่ข้างหลัง หรือบางช่วงมีมวลชนออกมาต่อสู้เพื่อทำให้มีการรัฐประหาร แต่มีบทพิสูจน์แล้วว่าเหมือนเป็นการทำนาให้นกกินจากผลของการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ

หากการออกมาของอดีตแกนนำม็อบรุ่นใหญ่อย่าง นปช. ต้องดูว่ามีเจตนาอย่างไร ประชาชนจะให้ความเชื่อถือจริงหรือไม่ ประกอบกับการทำไอโอ จะต้องมีการโจมตีในโซเชียลมีเดีย กรณีการเสนอนิรโทษกรรมตัวเองหรือจุดอ่อนเรื่องอื่นที่เคยทำไว้ ในการเคลื่อนไหวของมวลชนในยุคก่อนก็จะมีปัญหาพอสมควร แต่ถึงที่สุดเชื่อว่าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ต้องการให้แตกหัก เพียงแต่สร้างกระแสความรู้สึกให้กว้างขวางออกไป และหากจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การยุบสภา ก็ไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก แต่อาจจะเกิดจากเนื้อสนิมที่เป็นความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐมากกว่า

แม้ว่าผู้คนอาจจะเบื่อรัฐบาลชุดนี้พอสมควร จากสิ่งที่นายกรัฐมนตรีดูเหมือนจะหงุดหงิด พูดท้าทายหลายเรื่อง สายตาของท่านที่มองผู้ที่เคลื่อนไหวเชื่อว่ายังมีเบื้องหลัง หากตัดคนสนับสนุนไปได้ทุกอย่างก็จะหยุด ไม่ได้มองว่าการเคลื่อนไหวมีพื้นฐานของพลังบริสุทธิ์ โดยเฉพาะการพูดท้าทายให้ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ ก็จะเป็นปัญหาพอสมควร ส่วนตัวไม่ได้หวังผลการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะทุเลาความขัดแย้ง เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าตั้งไว้เพื่อประวิงเวลา ไม่ได้จริงใจจะปรองดองหรือสมานฉันท์ เหมือนที่ คสช.เคยประกาศไว้ว่าจะทำเรื่องนี้ หลังมีการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 แต่วันนี้ปัญหาถูกปล่อยให้บานปลายหนักกว่าเดิมยากจะเยียวยา