เบตง ปล่อยแถว!! 4ฝ่ายพิทักษ์เมือง เปิดยุทธการเชิงรุกรับวัน ก่อตั้ง กลุ่ม BRN

แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งเปิดยุทธการเชิงรุก สกัดเหตุป่วนช่วงวันสถาปนากลุ่มบีอาร์เอ็น 13 มี.ค. ขณะที่เบตงปล่อยแถวกองกำลังพิทักษ์เมือง 4 ฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหาร อส. และภาคประชาชน

พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ เปิดเผย ถึงการเตรียมการรับสถานการณ์ในวันคล้ายวันสถาปนากลุ่มบีอาร์เอ็น วันที่ 13 มี.ค. ว่า ได้เปิดยุทธการเชิงรุกไปแล้ว ทั้งในเรื่องของการลาดตระเวน ตั้งจุดตรวจจุดสกัด และมาตรการปิดล้อมตรวจค้น หากได้รับแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าว โดยในส่วนของการลาดตระเวนได้มุ่งเน้นพื้นที่ป่าเขา และหมู่บ้านเชิงเขาที่เป็น Support Site หรือ ฐานสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งใช้เป็นสถานที่หลบซ่อน หรือ ส่งกำลังบำรุง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุปกรณ์การดำรงชีพในป่า ยารักษาโรค ตลอดจนใช้เป็นจุดพักเพื่อหลบหนีอต่อ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มีข้อมูลความเคลื่อนไหว จึงออกลาดตระเวนเชิงรุกเพื่อกดดัน

ส่วนในพื้นที่เขตเมือง ได้เปิดแผน รปภ.เมือง โดยเน้นพื้นที่ในเขตเทศบาลทั้งหมด และ 7 หัวเมืองหลักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเจ้าหน้าทึ่เน้นคุมเข้มพื้นที่และลดโอกาสการก่อเหตุของผู้ก่อความไม่สงบ ขณะเดียวกัน มีข่าวจากกลุ่มแนวร่วมที่ทราบข้อมูลความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ก่อเหตุรุนแรง ระบุว่ามีการเตรียมการเพื่อก่อเหตุบางอย่าง แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องรูปแบบและวิธีการ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.64 บริเวณสี่แยกหอนาฬิกา เทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง เป็นประธานปล่อยแถว กองกำลังพิทักษ์เมืองเบตง 4 ฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหาร อส. (อาสารักษาดินแดน) และกำลังภาคประชาชน เพื่อกวาดล้างอาชญากรรม และป้องกันเหตุความไม่สงบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13 มี.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันครบรอบวันสถาปนากลุ่มบีอาร์เอ็น

โดย นายอำเภอเบตง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ระมัดระวังการก่อเหตุในห้วงนี้มากเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามเข้ามาสร้างสถานการณ์ พร้อมปรับแผนมาตรการดูแลความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงฝากให้เจ้าหน้าที่ช่วยประชาสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิง ร้านค้า ช่วยกันสอดส่องเฝ้าสังเกตสิ่งผิดปกติ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกันเหตุร้าย และร่วมกันแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ตลอดจนเหตุอาชญากรรมต่างๆ

นอกจากนั้นยังได้เน้นย้ำการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะมีนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศมาเที่ยวเบตงเป็นจำนวนมาก

สำหรับขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ Barisan Revolusi Nasional Melayu Pattani มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2503 โดย อุสตาซอับดุลการิม ฮัสซัน ต่อมาในราวปี พ.ศ.2511 ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น จากนั้นปี พ.ศ.2513 เริ่มส่งเยาวชนไปศึกษาต่อที่ประเทศอินโดนีเซีย และเริ่มจัดตั้งองค์กรแบบใหม่ แบ่งเป็น 3 ขา คือ บีอาร์เอ็น อูลามา เป็นฝ่ายศาสนา, บีอาร์เอ็น คองเกรส เป็นฝ่ายทหาร และ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต เป็นฝ่ายการเมือง แต่ละฝ่ายมีหัวหน้าดูแลโดยตรง

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากบางแหล่งระบุว่า การแบ่งโครงสร้างเป็น 3 ขาหรือ 3 องค์กรย่อยดังกล่าว แท้ที่จริงเกิดจากความขัดแย้งภายในของขบวนการเอง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ช่วงหลังจากปี 2526-2527 บีอาร์เอ็น อูลามา ซึ่งยังคงมี อุสตาซอับดุลการิม เป็นหัวหน้า และ บีอาร์เอ็น คองเกรส ได้ยุติบทบาทลง เหลือเพียง บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ที่เดินหน้าต่อสู้ต่อไป โดยที่มีสมาชิกหรือแกนนำจาก 2 กลุ่มแรกที่ไม่เห็นด้วยกับการยุติบทบาทได้ไหลเข้า บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ด้วย

ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต นี่เองที่อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบในช่วงสิบกว่าปีมานี้ แต่เปลี่ยนวิธีการรบใหม่โดยผ่านการจัดตั้ง “องค์กรปฏิวัติมลายู” ซึ่งแบ่งเป็นองค์กรนำ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย, องค์กรมวลชน มีการจัดตั้งจากระดับเขต จังหวัด อำเภอ ลงไปถึงหมู่บ้าน และองค์กรทหาร มีโครงสร้างตั้งแต่หน่วยรบจรยุทธ์ขนาดเล็ก หรือ “อาร์เคเค” เรื่อยขึ้นไปจนถึงระดับจังหวัดและเขต

ในระยะ 2-3 ปีหลังมานี้ สถิติเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้านหนึ่งถูกมองว่าเป็นเพราะความอ่อนแรงของบีอาร์เอ็น แต่อีกด้านหนึ่งก็มีข้อมูลว่า บีอาร์เอ็นปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ หันมาใช้ประโยชน์จากโต๊ะเจรจา และแรงกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ยังดำรงเป้าหมายเรื่องเอกราชหรือปกครองตนเองอยู่เช่นเดิม