“ธัญญ์วาริน” หลุด ส.ส.! ศาลชี้ถือหุ้นสื่อ จ่อเรียกคืนเงินเดือน ฟันอาญาซ้ำ

มติศาล รธน.เสียงข้างมาก เชือด “ธัญญ์วาริน” ถือครองหุ้นสื่อ ส่งผลหลุดจากเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรครคก้าวไกล โดนคนเดียวใน 64 ส.ส.ที่วินิจฉัย ส่อโดนริบเงินเดือนคืน-โทษอาญา

วันที่ 28ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ หรือ กอล์ฟ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3) ประกอบมาตรา 101(6) นับตั้งแต่ วันที่ 6 ก.พ.62 ซึ่งเป็นวันสมัครรับเลือกตั้ง โดย นายธัญญ์วาริน เป็น ส.ส.เพียงคนเดียวที่ศาลสั่งให้สิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส จากจำนวน ส.ส. 64 คน ที่ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีถือหุ้นสื่อ

เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้ นายธัญญ์วาริน อาจถูกสํานักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เรียกคืนเงินเดือน ส.ส.และ เงินค่าตอบแทนต่างๆ เนื่องจากถือว่าไม่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส.มาก่อน และ ถูก กกต.ดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ซึ่งกำหนดโทษไว้ว่าผู้สมัครผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครแล้วยังลงสมัครรับเลือกตั้งต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปีปรับ 20,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ทั้งนี้ ตลุาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า นายธัญญ์วาริน ถือครองหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และ บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ทั้ง 2 บริษัทประกอบกิจการเกี่ยวกับโฆษณา ภาพยนตร์ และการแสดง ซึ่งถือว่าเป็นสื่อกลาง ส่งข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระไปสู่ประชาชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้โดยทั่วไป แม้ไม่ปรากฏว่า บริษัท เฮด อัพฯ และ บริษัท แอมฟายน์ฯ ได้ยื่นคำร้อง หรือประกอบกิจการจดแจ้งตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ก็ตาม แต่บริษัทย่อมดำเนินการขออนุญาตต่อนายทะเบียนตามกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของบริษัทจัดตั้งขึ้นเกี่ยวกับสื่อ นัยความหมายเดียวกับมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญ ยังพบข้อพิรุธกรณีการโอนหุ้นของ นายธัญญ์วาริน ที่โอนหุ้นให้บุคคลอื่น โดยพบว่า มีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2562 ทั้ง 2 บริษัท และนำส่งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันเดียวกัน โดยเป็นการดำเนินการภายหลังถูกยื่นคำร้องถือครองหุ้นสื่อต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ตามเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า 2 บริษัทดังกล่าวระบุในแบบ บอจ.5 ว่า โอนหุ้นตั้งแต่ 11 ม.ค.2562 อย่างไรก็ดีการประชุมผู้ถือหุ้นของ 2 บริษัทข้างต้นที่ผ่านมากระทำในเดือน เม.ย.เป็นหลัก ดังนั้นการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2562 จึงเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย นอกจากนี้ หากนายธัญญ์วารินมีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง ย่อมสามารถแจ้งต่อนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็ว ก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องคดีนี้ได้

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้นายธัญญ์วารินมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่นายธัญญ์วารินไม่ได้มาชี้แจงแต่อย่างใด จึงเป็นการผิดปกติวิสัยในการต่อสู้คดี เมื่อข้อพิรุธหลายประการดังกล่าวประกอบกัน พฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงฟังได้ว่า นายธัญญ์วาริน เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท เฮด อัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ ในวันที่ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส.เสนอต่อ กกต.