กลายเป็นประเด็นร้อน ต้องติดตาม เปิดสภาวิสามัญ ผ่าทางตันการเมืองได้หรือไม่ หรือแค่ลดการเผชิญหน้ากันบนถนน ท่ามกลาง พรก.ฉุกเฉิน และ เสียงเรียกร้องให้ สส.ออกมา แก้วิกฤตประเทศ
สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ประชาชน ในนาม “คณะราษฎร 63” ที่ต่อเนื่องมาจากวันที่ 14 ตุลาคม กลุ่มผู้ชุมนุมได้บุกยึดทำเนียบรัฐบาล กดดันให้นายกฯลาออก แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายในช่วงใกล้สว่าง จากนั้นในวันต่อๆ มาได้เริ่มกระจายไปยึดย่านธุรกิจที่สำคัญ เช่น แยกราชประสงค์ แยกปทุมวัน แยกบางนา อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แบบแฟลชม็อบ ชนิด “นัดเป็นมา” ท่ามกลาง ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร
“แรงจูงใจบวกอารมณ์โกรธแค้น” ที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะมาจากการที่รัฐบาลเล่นเกมยื้อแก้ไข รธน. หลังจากตั้ง กมธ.ศึกษา 30 วันก่อนโหวต และกำลังขอขยายเวลาออกไปอีก 15 วัน … บวกกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พาคณะรัฐมนตรีออกมายืนเรียงแถว ประกาศ “ไม่ลาออก” พร้อมคำถามกลับว่า “รัฐบาลทำผิดอะไร” … สลายการชุมนุมด้วยการ “ฉีดน้ำสี” ที่แยกปทุมวัน และ จับกุมแกนนำแบบไม่ให้ประกันตัว
จึงเป็นปัจจัยให้ “ม็อบจุดติด” และกำลังลุกลาม กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม กับรัฐบาล และมีแนวโน้มว่าจะยกระดับความเข้มข้น รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ยังไม่รู้ว่า “จุดจบ” จะลงเอยอย่างไร… ทำให้หลายฝ่ายต่างแสดงความเป็นห่วง และเสนอให้ใช้เวทีสภาฯในการพูดคุยแก้ปัญหา เหมือนเปิดฝากาน้ำที่กำลังเดือด จะได้ลดแรงดันลงไปบ้าง
“ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา จึงได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และตัวแทนของคณะรัฐมนตรี มาร่วมหารือถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เป็นการเร่งด่วนเพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นพ้องต้องกันว่า “ไม่ขัดข้อง” ที่จะให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญขึ้น…
“ชวน หลีกภัย” ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้รับฟังความคิดเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. โดยขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา165 … ซึ่งก็คือการเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติ
เมื่อทุกฝ่ายแสดงเจตจำนงเช่นนี้ “ลุงตู่” ก็มีท่าทีอ่อนลง … บอกว่ารัฐบาลก็มีความคิดนี้อยู่แล้ว จะได้ทำความเข้าใจกันในสภา เพื่อลดความขัดแย้งลงไปให้ได้มากที่สุด… ซึ่งต่างจากท่าทีของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ก่อนหน้านี้จะยืนกราน บอกว่าเหลืออีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสภาสมัยสามัญอยู่แล้ว …“ผมขอยืนยันตรงนี้ วันที่ 20 ต.ค. จะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเตรียมการให้พร้อม” นายกฯให้คำมั่นอย่างหนักแน่น
ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความปรองดองก่อนการเปิดประชุมสภาฯ ก็ได้มีการให้ประกันตัวแกนนำ อย่าง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ กับพวกที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ … เพราะในการชุมนุมระยะหลังนี้ กลุ่มผู้ชุมนุม จะตะโกนว่า… ปล่อยเพื่อน ..ปล่อยเพื่อน และได้เป็นเงื่อนไขนำไปสู่ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
คือ 1. หยุดดำเนินคดีแก่ประชาชนทุกกรณี 2. ปล่อยบุคคลที่ต้องข้อหาตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และ 3. สภาต้องรับหลักการ ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อเป็นการหาทางออกให้แก่ประเทศ และเป็นการยุติปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อให้สถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลายและเกิดความสันติอย่างแท้จริง
ก็ต้องจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (20 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมจะมีมติให้ ตรา พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญขึ้น เปิดอภิปรายทั่วไป ให้คณะรัฐมนตรี ได้รับฟังความคิดเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. โดยไม่ลงมติ หรือจะมีประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน และกลุ่มผู้ชุมนุม ระบุลงไปด้วย
เพราะแน่นอนว่าฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุม ก็ต้องการให้มีการโหวตญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังค้างสภาอยู่ในการเปิดสมัยวิสามัญครั้งนี้ เพื่อเป็นการ “วัดใจ” ว่า รัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนที่จะไปหารือกันเรื่องอื่น อย่างเช่น ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หยุดการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม หรือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก
การใช้เวทีสภาผ่าทางตันครั้งนี้ จะได้ผลตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้หรือไม่ สภาจะเป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้หรือไม่ เป็นประเด็นทางการเมืองอันร้อนแรง