ศาลฏีกาฯ เชือด! “วัฒนา-เสี่ยเปี๋ยง” สั่งคุก50ปี คดีทุจริต บ้านเอื้ออาทร

ศาลฏีกาฯ นักการเมือง มีมติ  ชี้มูล “วัฒนา เมืองสุข” และ “เสี่ยเปี๋ยง” หรือ นาย อภิชาติ จันทร์สกุลพร มีความผิด คดี ทุจริต “บ้านเอื้ออาทร” ลงโทษ จำคุก คนละ 50 ปี

วันที่ 24 ก.ย. 63 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วย องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ได้อ่านคำพิพากษา คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา เมืองสุข อายุ 62 ปี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 14 คน เมื่อปี 2548 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์ตามป.อาญาม.148 กับเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที้โดยมิชอบ ม.157 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

ล่าสุดเวลา 14.10 น.ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรเสร็จสิ้น โดยสั่งให้จำคุกนายวัฒนา จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 99 ปี ตามกฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี พร้อมจำคุกเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 66 ปี ให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี จำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 44 ปี จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี ปรับจำเลยที่ 8 2 แสนกว่าบาท และจำคุกนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3, 9, 11-14

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ Watana Muangsook ระบุว่า ผมแปลกใจที่ผู้สื่อข่าวหลายสำนักโทรมาถามว่าผมจะไปฟังคำพิพากษาหรือไม่ ผมยอมรับผลคำพิพากษาที่จะออกมาในทางร้ายได้หรือไม่ เสมือนคาดเดาคำพิพากษาได้ล่วงหน้า คดีนี้ผมถูกกล่าวหาว่า (1) ผมใช้อำนาจในตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการและผู้ว่าการการเคหะเพื่อออกประกาศฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2548 ให้เป็นไปตามความต้องการของผม แต่ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุไว้อย่างขัดเจนว่าการออกประกาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าของโครงการ และดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ตามรายงานของ ป.ป.ช. เอกสารหมาย จ. 251 หน้า 46

(2) ผลการออกประกาศดังกล่าวทำให้การเคหะเสียหายต้องรับซื้อโครงการในราคาที่แพงขึ้น แต่ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่าการออกประกาศดังกล่าวเป็นประโยชน์และไม่ทำให้การเคหะเสียประโยชน์ รวมทั้งไม่ทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ตามรายงานของ ป.ป.ช. เอกสารหมาย จ. 251 หน้า 47 (3) ผมเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดจากผู้ประกอบการเพื่อตอบแทนการอนุมัติหน่วยก่อสร้างและการรับซื้อโครงการจากผู้ประกอบการ แต่ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่าผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติ ทุนจดทะเบียน และหลักประกันถูกต้องได้รับอนุมัติจำนวนหน่วยตามคำขอทุกราย นอกจากนี้อัยการสูงสุดยังมีความเห็นว่า พฤติกรรมของคดีคือผมใช้อำนาจครอบงำในลักษณะเป็นการใช้อำนาจกำหนดนโยบายต่างๆ แต่ไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่เชื่อมโยงว่าผมใช้อำนาจไปเรียกรับเงิน ตามรายงาน ป.ป.ช. เอกสารหมาย จ. 251 หน้า 46 และตามบันทึกการประชุมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. เอกสารหมาย จ. 354 หน้า 940

ผลการไต่สวนยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่การเคหะทุกคนปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ การอนุมัติหน่วยก่อสร้าง การรับซื้อโครงการเป็นไปอย่างถูกต้องทุกโครงการ ไม่มีการเอื้อประโยชน์ใดๆ แก่ผู้ประกอบการ และไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นกับการเคหะ ปรากฏตามเอกสารที่ถ่ายมาจากต้นฉบับที่ผมโพสต์มาให้ดูเป็นหลักฐาน ในคดีอาญาภาระการพิสูจน์เป็นของโจทก์ โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลย หลักฐานที่ผมโพสต์มาให้ดูคงเป็นคำตอบว่าเพราะอะไรผมจึงมีความมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง ผมสู้คดีตามครรลองและไปศาลทุกนัดโดยไม่เคยขอเลื่อนคดี ผมเชื่อว่าการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาจะต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน ไม่ใช่เป็นไปตามความเชื่อหรือเป็นไปตามกระแสทางการเมือง พรุ่งนี้ (24 ก.ย.) เวลา 11.00 นาฬิกา เจอผมได้ที่ศาลฎีกาฯ ครับ

สำหรับคดีนี้ เริ่มต้นเมื่อปี 2548 จนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว กว่า 15 ปี นับว่า เป็นคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองรายชื่อจำเลยทั้ง 14 ราย ประกอบด้วย 1.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พม., 2.นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตบอร์ด กคช. และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548-19 ก.ย. 2549, 3.นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย, 4.นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, 5.น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง, 6.น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด, 7.น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ,

8.บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน, 9.บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน, 10.นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย, 11.บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด, 12.บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย, 13.บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และ 14.น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ โดยมีการรักษาความปลอดภัยบริษัทศาลอย่างเคร่งครัด