“จตุพร พรหมพันธุ” สแกนชะตาแกนนำม็อบหลัง 19 ก.ย. จะไม่เหมือนเดิม แต่ถือเป็นเรื่องปกติ บนถนนต่อสู้ทางการเมือง ลั่นยังหนุน 3 ข้อเรียกร้องเพราะมีผลให้รัฐสั่นคลอน แนะรบ.ควรลาออกหากฝืนอยู่ไป จะเจอวิกฤตใหญ่สุด
วันที่ 21 ก.ย.63 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อ ต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์หลังการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ชีวิตแกนนำการชุมนุม จะไม่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นปกติของวิถีต่อสู้บนท้องถนน
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้บางคนพยายามเสนอตรรกะ ว่าการต่อสู้ได้เดินมาไกลและอยู่ใกล้เส้นชัยชนะเต็มที แต่นั่นเป็นการตีความฝ่ายเดียว ในขณะที่อีกฝ่ายยังไม่ได้ลงมือกระทำอะไร ดังนั้น ถ้าอีกฝ่ายลงมือแล้ว ระยะแรกจะเริ่มตื่นตัว และถ้าเดินทางยาวนาน ไม่มีปัจจัยมาเอื้ออำนวย ยิ่งทำให้ความยากลำบากเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นายจตุพร กล่าวต่อว่า สถานการณ์หลังวันที่ 19 ก.ย.นั้น ส่วนตัวมั่นใจว่า รัฐบาลได้รับความชำรุดน้อย เนื่องจากเป้าในการเคลื่อนไหวที่ชู 10 ข้อไม่ได้พุ่งไปเล่นงานรัฐบาล ขณะเดียวกัน เป้าหมายนั้นไม่ได้ง่ายในทางปฎิบัติ และถ้ายิ่งเคลื่อนไหวรุกมากขึ้น ก็ยิ่งจะเกิดกระแสตีกลับเช่นกัน
“ผมยืนยันว่า สิทธิเขียนอ่าน เสรีภาพการแสดงความเห็น ยังดำรงสภาพต่อไป ผมบอกมาแต่ต้นว่า สนับสนุน 3 ข้อ ไม่เอา 10 ข้อ มีหลายคนไม่พอใจผมมาก แต่ถ้ามองปรากฎการณ์ยาวๆแล้ว ถึงที่สุดปลายทางต้องเจอกับอะไร โดยผมเชื่อมั่นว่า ถ้าเอาการต่อสู้ใน 3 ข้อแล้ว กระแสจะแรงมากที่สุด เพราะประชาชนเดือดร้อน ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน” นายจตุพร กล่าว
ประธาน นปช. เชื่อว่า ถ้าต้องการจัดการรัฐบาลแล้ว ต้องวางเป้าหมายเคลื่อนไหวเรียกร้อง 3 ข้อ เมื่อเลือกเส้นทาง 10 ข้อ แม้เป็นเสรีภาพการตัดสินใจ แต่ระยะเวลาเดินต่อไปนั้น จะถูกกล่าวโทษ ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีหลากหลายเรื่องราว ซึ่งเหตุการณ์ถัดจากนี้ไป ต้องคิดถึงรุกและรับให้พร้อม โดยจะเกิดทั้งกระแสสูงสุดและต่ำสุดที่ใกล้กันอย่างมากด้วย ซึ่งตนเคยสัมผัสมาแล้ว เมื่อหลังถูกการสลายชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 นปช.เกิดกระแสต่ำสุดอย่างมาก ไปที่ไหนก็ติดลบ จึงต้องปลุกให้พลิกฟื้นกลับมาดังเดิม แล้วมาสำแดงเอาวันเลือกตั้ง
ส่วนการนัดเคลื่อนไหวในวันที่ 24 ก.ย.นั้น ส่วนตัวมองว่า มีความชอบธรรมในการเรียกร้องให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และรายมาตราอื่นๆด้วย โดยการข่าวระบุฝ่ายรัฐบาลยอมแก้มาตรา 256 แต่ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต่างกัน คือ รัฐบาลขอเพิ่มสรรหา 50 คน และจากเลือกตั้ง 150 คน แต่ฝ่ายค้านต้องการเลือกตั้ง 200 คน
“ที่ยื่นแก้รายมาตราอื่นๆ จะถูกตีตกหมด โดยให้ส.ว.โหวตไม่ถึง 84 คน แม้เสียงข้างมากให้ผ่าน แต่จะเป็นโมฆะ ดังนั้น แรงกดดันในวันที่ 24 ก.ย. จะมีพลังมหาศาล หากนอกเหนือไปจากนี้ จะกลายเป็นอีกกรณีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเคลื่อนไหวทะลุเพดานการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จะเกิดแรงต่อต้านเคลื่อนไหวเป็นคู่ขนานกันทันที” ประธาน นปช. ระบุ
นอกจากนี้ ส่วนตัวได้นำเสนอความคิดเห็นในสังคม โดยยึดมั่นการพูดความจริง และไม่ทรยศต่อความเชื่อของตัวเอง รวมทั้งเคารพการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว แต่หลังจากนี้เมื่ออีกฝ่ายตั้งหลัก แม้ปรากฎการณ์แต่ละเรื่องราวไม่ได้สำเร็จอย่างง่ายดาย แต่ตนต้องการพูดเตือนสติ และไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางขบวนการคนหนุ่มสาว ซึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งลาออกปัญหาก็ไม่จบ ถ้าการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ ปัญหายังจะหวนกลับมาที่เดิม
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศขณะนี้ ในทางเศรษฐกิจไปไม่ได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด แต่ความเดือดร้อนประชาชนเกินเยียวยา ดังนั้น ประชาชนจึงต้องถอดสลักด้วยตัวเอง เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นทางการเมือง แล้วส่งผลไม่ลุกลามไปกระทบทางเศรษฐกิจ
“ผมจึงเรียกร้องให้ยุบสภา แม้ลาออก แต่ปัญหาก็ไม่จบ และถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ความเชื่อมั่นก็ไม่เกิด เนื่องจากการท่องเที่ยวแต่ละเมืองพังพินาศย่อยยับหมดแล้ว ดังนั้น เมื่อไม่สามารถนำพาไปต่อได้ จะดึงดันไปทำไม เนื่องจากกลไกรัฐต่างๆช่วยอะไรไม่ได้ เมื่อเกิดการแสดงความคิดเห็น ย่อมจะเกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ที่สุด” ประธาน นปช. กล่าว
นายจตุพร กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาของชาติที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทำให้รัฐบาลอยู่ยากมาก และในปีหน้าจะยากลำบากหนักไปกว่านี้อีก ดังนั้น เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตขึ้น แต่ละฝ่ายจึงยิ่งต้องร่วมมือกันเสียสละ ถ้าเอาแต่ตัวเองแล้ว จะพบวิกฤตที่ใหญ่ที่สุด และเมื่อสถานการณ์ประเทศคลอนแคลนกัน แล้วเอาอำนาจกลับคืนสู่ประชาชนไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งการยุบสภาฯ เป็นเรื่องปกติทางการเมืองของไทย ยิ่งสถานการณ์ในสภาฯ ใกล้อยู่ตอนปลายการยึดอำนาจไปทุกวัน ซึ่งที่เป็นเช่นนี้เกิดจากความตึงเครียดที่มาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ แล้วลามไปสู่ส่วนต่างๆของบ้านเมือง
“หลัง 19 ก.ย.นั้น แกนนำทั้งหลาย จะมีชีวิตไม่เหมือนเดิมต่อไป หนทางข้างหน้าปัญหามีไว้ให้แก้ และจะยิ่งบ่มเพาะให้ตัดสินใจในแต่ละห้วงเวลา ถ้าทำใจกันไม่ได้ สถานการณ์จะนำพาไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง จึงขอฝากว่าคนอยู่หน้างานต้องตัดสินใจ แต่ผมเป็นห่วง มีความปรารถนาดี และพยายามเสนอความเห็นต่างเพื่อช่วยประคับประคองกัน ผมยังยืนยันสนับสนุน 3 ข้อซึ่งเป็นจุดยืนชัดเจน” นายจตุพร กล่าว