ประธาน นปช. ระบุ กรณี “คนเสื้อแดง”จะเดินทางชุมนุม กับ กลุ่มนักศึกษา เพื่อร่วมทวงคืน ประชาธิปไตย ถือ เป็นเสรีภาพ ประเมินม็อบ ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน เตือน จนท.ภาครัฐ อย่าขัดขวาง สร้างแรงปะทะ
วันที่ 16 ก.ย.63 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊กไลฟ์ peace talk โดยนายจตุพร กล่าวถึงคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.ว่า เป็นเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง เพราะจุดยืนคนเสื้อแดงไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ส่วนจำนวนคนจะมาร่วมชุมนุม 19 ก.ย. ตนเชื่อว่ามากกว่าจำนวน 5 หมื่นคนที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐคาดเอาไว้
โดย ประเมินสถานการณ์ชุมนุม 19 ก.ย.ว่า การชุมนุมจะอยู่ในพื้นที่ธรรมศาสตร์ หรือ สนามหลวง ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สร้างแรงปะทะให้เกิดการกระทบกระทั่งกันแล้ว คงไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใดๆ แต่ถ้าถูกบีบ ที่ธรรมศาสตร์ และยังมาบีบ ที่สนามหลวงอีก ผู้ชุมนุมต้องเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นั่นจะเป็นจุดปะทะที่สำคัญ เพราะถึงที่สุดผู้ชุมนุมต้องเดินทางไปถึงปลายทางตามเป้าหมายที่ทำเนียบรัฐบาลอยู่แล้ว
นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ เส้นทางที่อยู่นอกประกาศการเคลื่อนไหว เนื่องจากการชุมนุมแต่ละครั้ง ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และอาจถูกพวกไม่หวังดีสร้างสถานการณ์แทรกซ้อนขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าธรรมศาสตร์ยืนยันปิดประตูไม่ให้ใช้พื้นที่ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมก็ประกาศตัดโซ่คล้องประตูเข้าไป จะเป็นชนวนแรกทำให้เกิดแรงปะทะขึ้น และขาดความร่วมมือในการรักษาความปลอดภัย แต่ถ้าธรรมศาสตร์เปิดประตูให้เข้าแล้ว การร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ผู้ชุมนุม กับเจ้าหน้าที่จะดูแลความปลอดภัยกันได้
และเช่นเดียวกันถ้าเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ชุมนุมที่สนามหลวง ก็ไม่เกิดแรงปะทะ แต่สั่งห้ามเข้าพื้นที่แล้ว ผู้ชุมนุมคงเดินไปทำเนียบรัฐบาล และถ้าระหว่างการเดินทางไปนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำตามที่พูดว่า จะดูแลความปลอดภัยให้ลูกหลาน แล้วจะลดความสูญเสียจากการกระทบกระทั่งทั้งปวง และปัญหาคงไม่เกิดขึ้น
ที่สำคัญ การเคลื่อนไหวไปทำเนียบรัฐบาล ต้องประกาศเส้นทางให้ชัดเจน เพราะบ่งบอกว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากเส้นทางที่ประกาศแล้ว ผู้กระทำการนั้นๆต้องรับผิดชอบ อีกทั้งตนเชื่อว่า การประสานงานที่ชัดเจนของทุกฝ่ายนั้น จะสกัดการแทรกแซงเหมือนกรณี 6 ตุลา 2519 ไม่ให้กระทำการใดๆได้ ผู้ผ่านการชุมนุมมาแล้ว ย่อมรู้ว่า เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนั้น จะเป็นจุดเปลี่ยนของการชุมนุมทุกครั้ง ไม่ว่า 14 ตุลา พฤษภา 35 หรือ เมษา-พฤษภา 53 ก็ตาม เพราะเหตุการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในแผน ซึ่งไม่รู้ว่าใครออกแบบจัดการอะไรให้กันนั้น ท้ายที่สุดคือจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ทั้งสิ้น.