ต้องเปิดพื้นที่! “มาร์ค” เตือน รบ.อย่าปิดกั้น “ม็อบนศ.” จี้ เร่งแก้ รธน.

อดีต หน.พรรค ปชป. ระบุ รัฐบาล ต้องเปิดพื้นที่ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา คนหนุ่มสาว ได้ จัดกิจกรรมทางการเมือง และ ผู้มีอำนาจต้องจริงใจ แก้ รธน.ปลดล็อควิกฤต

วันนี้(5 ก.ย.63) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหน.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงปัญหาการเมืองไทย กรณีการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษา ว่า มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้อีก เพราะการเมืองช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีอะไรอยู่นอกเหนือความคาดหมาย มีการใช้เครื่องมือต่อสู้แบบเดิมๆ และระบบที่เดินตามรัฐธรรมนูญแต่ละพรรค ก็ปรากฏผ่านการสร้างมุ้งเล็กๆ ที่ใช้ต่อรอง การเคลื่อนไหวชิงเก้าอี้รัฐมนตรี จึงน่าเสียดายที่เราไม่ได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ทางการเมืองเท่าไร ไม่ว่า การที่หลายคนอยากเห็นผู้นำรัฐบาล เอื้อมมือไปหาฝ่ายค้านเพื่อร่วมมือฝ่าวิกฤต เพื่อเป็นกำลังใจให้ประชาชนเห็นว่า ในที่สุดการเมืองพร้อมนำประเทศฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน

ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่มันตกค้างมา ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ ชี้ว่า มาจากปัญหาในตัวรัฐธรรมนูญ ช่องว่างระหว่างรุ่นในความคิดอ่านทางการเมือง และที่สุดหากปัญหาเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมาซ้ำเติม เรื่องความเดือดร้อนและความเหลื่อมล้ำ โอกาสที่จะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งกันก็มีมากขึ้น ตรงนี้ ฝ่ายรัฐบาลไม่พยายามใช้กลไกระบบสภาอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหา แต่ยังใช้ทัศนคติเดิมๆ ว่า เมื่อยังกุมเสียงข้างมาก ก็พยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ซึ่งไม่เป็นผลดี

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมในการกำหนดกติกา เป็นเครื่องมือที่เอื้อกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ การต่อสู้ ความขัดแย้งจากประเด็นเหล่านี้มันยังไม่จบ เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ต้องย้อนกลับมา ถ้ามันไม่มีการเดินหน้าแก้ไข และความที่รัฐธรรมนูญเขียนจนไม่เปิดทางให้แก้ไขได้ง่ายๆ ถ้าฝ่ายที่มีอำนาจ ไม่ร่วมมือ มันก็จะเป็นบททดสอบว่า จะมีความจริงใจที่แก้เรื่องนี้ไหม แต่ถ้ามาถึงจุดหนึ่งถ้าไม่มีความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าจริงจัง มันก็เป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้”

หน.พรรค ปชป. ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา เขาพยายามสร้างพื้นที่ใหม่ให้สังคมหลุดออกจากกับดักความขัดแย้งนี้ ซึ่งคนทำอาจต้องเจ็บตัวบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อทำแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ช่องว่างมันก็อาจปะทุขึ้นมาเป็นความขัดแย้งอีกรอบ

“พอเลือกตั้งผ่านพ้นไป ระบบรัฐสภา ก็เข้าไปสู่ระบบแบ่งแยกระหว่าง รัฐบาลกับฝ่ายค้าน ขนาดในช่วงโควิดเราก็ยังเห็นว่า การพูดถึงการวิจารณ์รัฐบาลก็พยายามถูกจับไปใส่กล่องแบบเดิมระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการในชุดนั้นอยู่ ฝ่ายไม่เอารัฐบาลก็พยายามโยงว่า การขยายพรก.ฉุกเฉินเป็นเรื่องไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลแม้ฝ่ายค้านจะวิพากษ์อะไรสร้างสรรค์ ก็จะมองว่า พวกนี้ก่อกวน คัดค้าน”

ที่สุดแล้ว ถ้ากติกาในรัฐธรรมนูญไม่ปรับเปลี่ยนเพื่อเปิดกว้างเป็นธรรมมากขึ้น ถ้าผู้ที่มีอำนาจยังไม่มีพื้นที่ในทางการเมืองให้กับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ปัญหามันก็จะรุนแรงแน่นอน

“ผมไม่ได้คิดว่า คนรุ่นใหม่ทั้งหมดจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ค่อนข้างจะรุนแรงหรือสุดโต่ง เขาต้องการเห็นสังคมที่ก้าวหน้า แต่พอเขาเห็นฝ่ายที่มีอำนาจไม่ให้ความสำคัญ มันก็เลยถูกมัดรวมกลายเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนสองกลุ่มทำให้ทุกอย่างมันมัดรวมกันหมด ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่อยากให้เป็นสภาพปัญหาแบบนี้ก็ต้องเริ่มรับฟัง ผ่อนคลาย แนวความคิดที่จะล็อคทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้แบบเดิม” อภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย