“เสด็จเตี่ย” แจ้งเกิด “เรือดำน้ำ” เมืองสยาม

เปิดตำนานเรือดำน้ำไทยมีมาแล้วเมื่อ ๘๒ ปีก่อน! เสร็จทันเข้าสงครามกับฝรั่งเศส เป็นการริเริ่มของ “เสด็จเตี่ย” เมื่อครั้งดำรงยศ “พล.ร.ต.” กับ “พระยาราชวังสัน” โดย มอบให้ อู่ต่อเรือ “มิตซูบิชิ” จากญี่ปุ่น ดำเนินการ ก่อนเดินทาง ฝ่าคลื่นลม กว่า ๓ พันไมล์ จากแดนอาทิตย์อุทัย ถึงเมือง สยาม

ทุกวันที่ ๔ กันยายนของทุกปี กองทัพเรือจะจัดงาน “วันเรือดำน้ำ” เพื่อให้ทหารเรือที่เคยประจำการในเรือดำน้ำ และนายทหารประจำการที่ศึกษาวิชาเรือดำน้ำยุคใหม่ ได้พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้กัน พร้อมทั้งทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับทหารเรือดำน้ำผู้ลาวงลับ

ไทยเราเคยมีเรือดำน้ำมาแล้วเมื่อ ๘๒ ปีก่อน เป็นความคิดริเริ่มของ นายพลเรือตรี กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าพี่ยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย นายพลเรือตรีพระยาราชวังสัน และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้จัดทำโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ พ.ศ. ๒๔๕๓ ขึ้นถวาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกรมทหารเรือ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๖ กำหนดให้มีเรือ ส. (สับมารีน หรือเรือดำน้ำ) ๖ ลำ ต่อมาในปี ๒๔๕๘ นายเรือโท พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ทรงจัดทำเอกสารรายงานความคิดเห็นแนวทางจัดหาเรือดำน้ำ การใช้งาน และสิ่งสนับสนุนต่างๆโดยละเอียด

แต่โครงการนี้ก็ชะงักไป เพราะกรมหลวงชุมพรฯทรงถูกออกจากราชการชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในปี ๒๔๗๘ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพเรือจึงได้เริ่มโครงการจัดหาเรือดำน้ำอีก กำหนดจะให้มีเรือดำน้ำขนาด ๓๗๐ ตัน เป็นประเภทเรือดำน้ำรักษาฝั่ง มีขนาดเล็ก จำนวน ๔ ลำ โดยสั่งต่อจากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น ในราคาลำละ ๘๘๒,๐๐๐ บาท และได้รับพระราชทานชื่อว่า ร.ล.มัจฉานุ ร.ล.วิรุณ ร.ล.สินสมุทร และ ร.อ.พลายชุมพล

ร.ล.มัจฉาณุและ ร.ล.วิรุณ แล้วเสร็จก่อน บริษัทมิซูบิชิจึงทำพิธีส่งมอบให้กองทัพเรือไทย ๒ ลำในวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๘๐ อันเป็น “วันเรือดำน้ำ” ต่อมา นำลูกเรือเข้าประจำการและฝึกซ้อม ต่อมาในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๑ จึงส่งมอบ ร.ล.สินสมุทรและ ร.ล.พลายชุมพล อีก ๒ ลำ

เรือดำน้ำชุดแรกของไทย ๔ ลำได้ออกเดนทางจากเมืองโกเบในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๑ ฝ่าคลื่นลมเป็นระยะทาง ๓,๐๐๐ ไมล์ มาถึงประเทศไทยในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๘๑

ในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยและฝรั่งเศสในปี ๒๔๘๔ หลังจากยุทธนาวีที่เกาะช้าง เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำได้รับหน้าที่ตระเวนบริเวณหน้าฐานทัพเรือเรียมของฝรั่งเศสในกัมพูชา และเฝ้าระวังอยู่ใต้น้ำวันละ ๑๒ ชั่วโมง สร้างความหวั่นเกรงไม่ให้เรือรบฝรั่งเศสล่วงล้ำเข้ามา

ในสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อโรงไฟฟ้าที่วัดเลียบ เชิงสะพานพุธ และโรงไฟฟ้าที่สามเสนถูกระเบิดถล่มทั้งสองโรง จนกรุงเทพฯต้องใช้ตะเกียงกันทั้งเมือง กองทัพเรือได้รับการขอร้องให้ใช้เครื่องปั่นไฟของเรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำต่อสายส่งกระแสไฟฟ้าให้รถรางสายหลักเมือง-ถนนตกวิ่งให้บริการประชาชนได้

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงในปี ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนด้านอะไหล่เรือดำน้ำให้ไทยได้ นอกจากนี้ หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๔ ซึ่งทหารเรือกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ก่อการ ทำให้กองทัพเรือถูกปรับโครงสร้างและงบประมาณให้ลดลง หมวดเรือดำน้ำถูกยุบในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๙๔ โอนไปเข้ากับหมวดเรือตรวจฝั่ง เป็นการปิดฉากเรือดำน้ำของไทย

ภายหลังการปลดระวางประจำการ เรือดำน้ำทั้ง ๔ ลำถูกขายให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เพื่อนำไปศึกษาด้านวิศวกรรม โดยกองทัพเรือได้ถอดหอบังคับการ อาวุธปืน และกล้องตาเรือออก นำไปติดตั้งสะพานเดินเรือจำลอง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ หน้าโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

เป็นเวลาถึง ๖๘ ปีมาแล้วที่ไทยไม่มีเรือดำน้ำ ขณะที่ตอนนี้เพื่อนบ้านที่ทะเลติดกันต่างก็มีประเทศละ ๒-๓ ลำแล้ว ฉะนั้นอีกไม่นานเกินรอไทยเราก็จะขอมีบ้าง เพราะอู่ต่อเรือที่จีนได้ลงมือต่อเรือดำน้ำให้ไทยแล้วจำนวน ๓ ลำ ระวางขับน้ำ ๒,๖๐๐ ตัน มีอาวุธสำคัญคือตอร์ปิโดและขีปนาวุธ มีระบบทันสมัยที่สุด อยู่ใต้น้ำได้นาน ๓ สัปดาห์ ราคาจึงไม่เท่ากับรถปิกอัพเหมือน ๔ ลำก่อน แต่เป็นลำละ ๑๓,๕๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ไทยมีเรือดำน้ำเท่าเวียดนามซึ่งมีอยู่ ๓ ลำ และแซงหน้าอินโดเนเซียและมาเลเซียซึ่งมีประเทศละ ๒ ลำ แต่ยังห่างสิงคโปร์ซึ่งมีอยู่ ๖ ลำ และไม่ต้องพูดถึงมหาอำนาจทั้งหลายที่แต่ละประเทศมีหลายสิบลำทั้งนั้น ขนาดเกาหลีเหนือยังมีถึง ๗๐ ลำ

การฟื้นคืนชีพกองเรือดำน้ำครั้งนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เช่นเดียวกับทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ จะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเรื่องนี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ผู้เซ็นสัญญาสร้างเรือดำน้ำกับจีนเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๐ กล่าวไว้ว่า

“ถ้าถามว่ามีเรือดำน้ำไว้รบกับใคร ก็เหมือนถามว่ามีทหารเอาไว้ทำไม…ที่เรามีไม่ใช่เพื่อไปรบ แต่เพื่อไม่ต้องรบ ให้เขาเกรงใจ”