ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาฯ เชื่อผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการพบเชื้อ ที่ รพ.รามาฯ หลังกักตัว 14 วัน ติดเชื้อจากต่างประเทศ และมีจำนวนไวรัสที่น้อยมาก จึงไม่น่าจะมีการลุกลาม
วันที่ 20 ส.ค.63 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวระบุ ว่า โควิด 19 การพบเชื้อในผู้ที่หลังจากพ้นการกักกันโรคแล้ว 14 วัน มีความเป็นไปได้ดังนี้
1. ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2 ถึง 7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้ น้อยมาก ถึง 21 วัน ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรคและ 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วันเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค
2.การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว ก็เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วัน ที่อยู่ในสถานที่กักกัน ในอดีตเช่นในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน เราจึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกัน ระหว่าง ผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก
3.ผู้ป่วยนั้นมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว
4. มีความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ อย่างเช่นการระบาดในรอบแรกของเรา เราได้ทำการศึกษาร่วมกับ สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม พบว่า ก่อนกลับจากโรงพยาบาลตรวจไม่พบเชื้อแล้ว หลังจากนั้นเราติดตาม ก็ยังมีการพบเชื้อ แต่เชื้อมีปริมาณน้อยมาก ในการติดตามระยะยาวที่เราทำการศึกษา จำนวน 212 ราย พบว่าในช่วง 4-12 สัปดาห์ หลังจากที่มีอาการ และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว เรายังตรวจพบเชื้อได้ประมาณร้อยละ 6.6 ของผู้ป่วย
เราพบไวรัสได้หลังจากมีอาการ 36– 105 วัน แต่ปริมาณไวรัสที่พบน้อยมาก ดังนั้นการพบเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีอาการ รวมทั้งการตรวจปริมาณไวรัส ถ้ามีเป็นจำนวนน้อย โอกาสที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นก็น้อยมากๆ ดังข้อมูลในการระบาดรอบแรก ที่เราได้ทำการศึกษาถึงแม้จะตรวจพบเชื้อ ก็ไม่พบว่าแพร่กระจายไปสู่ผู้ใดเลย