รองหน.พรรค ปชป. แนะ พรรคร่วมฝ่ายค้าน รัฐบาล และ ส.ว.. ระดมสมอง หาแนวทาง แก้ไข รัฐธรรมนูญ ให้เป็น แนวทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง พร้อมหนุนตัด “ผบ.เหล่าทัพ” นั่ง เก้าอี้ ส.ว.ชี้ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น
วันที่ 9 ส.ค.63 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และ ประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ( ปชป.) กล่าวถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรค ปชป.ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น จึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาล และต้องแก้มาตรา 256 ซึ่งขณะนี้ กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ก็เห็นด้วย ส่วนการจะแก้ไขตรงไหน อย่างไร แต่ละพรรคก็มีข้อเสนอที่เหมือนกัน และก็มีที่แตกต่างกันบ้าง เพราะฉะนั้นทางพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมถึงวิปของสมาชิกวุฒิสภา ควรไปประชุมปรึกษาหารือกันแต่ละฝ่าย และนำข้อเสนอที่สรุปร่วมกันมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ จากนั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ตัวแทนของสมาชิกวุฒิสภา ต้องนำข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขในทิศทางเดียวกันก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้
นายองอาจ กล่าวอีกว่า เราต้องยอมรับความจริงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ ต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้จริง เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องพยายามแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สร้างการยอมรับที่เห็นพ้องต้องกันในประเด็นสำคัญๆ ที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้ โดยหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทุกรูปแบบ เพื่อให้สำเร็จได้ตามความต้องการของทุกฝ่าย
“ส่วนที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. เสนอตัดไม่ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ นับเป็นเรื่องดีที่ ส.ว. มองเห็นจุดอ่อนของเรื่องนี้ที่ควรมีการแก้ไข เพราะในความเป็นจริง ถ้า ส.ว.ไปเลือกใครก็ตามที่รวบรวมเสียงได้ไม่ถึงครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นนายกฯ ก็คงไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้นาน เพราะจะไม่มีเสียงเพียงพอเกินครึ่งที่จะผ่านกฎหมาย หรือผ่านงบประมาณในสภาได้ ตรงกับประเด็นหนึ่งที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมอยู่ในขณะนี้ เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. ที่แสดงออกถึงการสืบทอดอำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ซึ่งทุกฝ่ายควรรับฟังและพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายองอาจ กล่าว
นายองอาจ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ผู้นำเหล่าทัพมาเป็น ส.ว. ตนไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นที่มีการใส่เรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ให้ผู้นำเหล่าทัพมาเป็น ส.ว. ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเพื่อป้องกันการรัฐประหาร เพราะในอดีตที่ผ่านมาผู้นำเหล่าทัพที่เป็น ส.ว. ก็เคยทำการรัฐประหารมาแล้ว เพราะฉะนั้นการไม่มีผู้นำเหล่าทัพเป็น ส.ว. คงไม่มีผลกระทบอะไรกับการทำงานของ ส.ว. โดยรวม ควรให้ผู้นำเหล่าทัพไปทำหน้าที่ผู้นำเหล่าทัพเต็มกำลังความสามารถในกองทัพจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่า