คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์หนัก กรณีการยกเลิกฮาลาลโรงเชือดไก่ของบริษัทใหญ่ ที่ดำเนินการล่าช้า และต่อมาได้อนุโลมให้สามารถส่งออกได้ ขณะเดียวกัน ได้มีเสียงโวยวายจากผู้ประกอบการว่า มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราแพงกว่าเดิมมาก
ลำดับเหตุการณ์
นายสมาน อาดัม รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในหนังสือ ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท บริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ยกเลิก เครื่องหมายรับรองฮาลาลของบริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์
มีรายละเอียด ระบุว่า ตามที่ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับรายงานการเชือดไก่ที่เชือดโดยใช้ไฟฟ้า ในการStunninigเกินค่าที่สามารถยอมรับได้ เป็นผลให้ไก่ที่ผ่านการStunninig ตายก่อนการเชือด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 และโรงงานได้นำไก่ดังกล่าวเข้าสู่ระบบการผลิตไม่ได้แยกออก ทำให้ไก่ที่เชือดไม่ถูกต้อง(ฮารอม) เข้าไปในการผลิตปกติ
ฝ่ายกิจการฮาลาล สกอท. ได้ตั้งคณะทำงานดำเนินการสอบสาวนข้อเท็จจริง เชิญผู้แทน 3 ฝ่ายมาให้ข้อมูล ประกอบด้วย ผู้ควบคุมการเชือด 2คน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้แทนบริษัท
คณะทำงานได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริง นำเสนอฝ่ายกิจการฮาลาลและการประชุม เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน มีมติยกเลิกหนังสือสำคัญให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลของบริษัท และผู้ว่าจ้างผลิต(OEM)ทุกทะเบียนที่ให้การรับรองฮาลาล และให้บริษัทเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาลออกจากท้องตลาดให้หมดภายใน 7 วัน นับจากวันที่ลงหนังสือ
ได้มีการส่งต่อหนังสือที่ลงนามโดยนายสมาน ไปยังมุสลิมทั่วประเทศ เกิดผลกระทบกับบริษัทอย่างหนัก เพราะมีผลิตภัณฑ์ส่งไปยังโรงงาน ส่งขายไปทั่วประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ บริษัทจึงได้ไปแจ้งความ เอาผิดคนที่แชร์หนังสือ อ้างเป็นหนังสือภายในของบริษัท
ต่อมานายฟูอ๊าด กันซัน ประธานฝ่ายกิจการฮาลาลกอ.เพชรบูรณ์ ได้ออกมาชี้แจงว่า การยกเลิกตราฮาลาลบริษัทโกลด้นท์ฯ ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทสหฟาร์ม แต่ห้างบางแห่งอาทิ แมคโคร ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทโกลเด้นฯ (คลิปโพสต์ผ่านเพจสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบูรณ์)
อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม นายเสรี ล้ำประเสริฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ตอบหนังสือของบริษัทโกลเด้นฯ ให้อนุโลมการใช้หนังสือสำคัญให้ใช้เครื่องหมายการรับรองฮาลาลเพื่อการส่งออก ระบุว่า ฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทราบเรื่องที่ขอใช้เครื่องหมายฮาลาลแล้ว กอรปกับการการยกเลิกการใช้เครื่องหมายฮาลาลของบริษัท กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา จึงอนุโลมให้บริษัท ใช้หนังสือสำคัญให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลเพื่อการส่งออกได้
มุสลิมทานไก่ฮารอมกันนานแค่ไหนก่อนยกเลิก
คำถามที่สังคมมุสลิมตั้งคำถามต่อฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามฯว่า การดำเนินการยกเลิกเครื่องหมายฮาลาลการเชือดไก่ของบริษัทโกลเด้นฯ ล่าช้า ตามรายงานระบุว่า ฝ่ายฮาลาลกอ.เพชรบูรณ์ ตรวจสอบตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่งเรื่องมายังฝ่ายกิจการฮาลาล รับทราบเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ ตั้งคณะทำงานและมีมติยกเลิอก เดือนกุมภาพันธ์
คำถามว่า กรณีนี้เท่ากับมีมุสลิมรับประทานไก่ฮารอม(ตามหนังสือนายสมาน) เป็นเวลาเกือบครึ่งปี และระหว่างนี้มีการอุทธรณ์ มีการเก็บผลิตภัณฑ์ออกจากชั้นวางในห้างสรรพสินค้าหรือส่งขายให้ร้านค้ามุสลิมอยู่หรือไม่
คำถาม กรณี หนังสืออนุโลมให้ใช้เครื่องหมายฮาลาลเพื่อการส่งออกได้ เท่ากับเป็นการอนุญาตให้มุสลิมทั่วโลกบริโภคไก่ฮารอมใช้หรือไม่ แม้จะอ้างการอุทธรณ์ แต่การอุทธรณ์เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย แต่ข้อสรุปก่อนหน้านี้มีการสอบสวนจาก 3 ฝ่ายยืนยันว่า ไก่ของบริษัทฮารอม ทำไมถึงกล้าทำผิดต่อบทบัญญัติอิสลาม มีอะไรจูงใจให้กระทำอย่างนั้นหรือไม่
ทำไมหนังสือยกเลิกลงนาม โดยสมาน อาดัม แต่หนังสืออนุโลม กลับลงชื่อโดยเสรี ล้ำประเสริฐ ตกลงว่า รองเลขาธิการฯคนไหนกันแน่ที่รับผิดชอบฝ่ายกิจการฮาลาล
ตราฮาลาลไทย ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 70 ปี ได้มีการผลักดันมายาวนานกว่าจะได้รับการยอมรับของสังคมมุสลิมทั่วโลก แต่ตราฮาลาลขนมเปีบยกปูนนี้กำลังจบลงด้วยคำสั่งครั้งเดียวของคนเพียงคนเดียวใช่หรือไม่
นี่เป็นยุคเสื่อมของตราฮาลาลขนมเปียกปูน เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องใช่หรือไม่
กรณีการยกเลิก-การอนุโลมตราฮาลาลของบริษัทโกลเด้นฯ เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความเสื่อมของตราฮาลาลไทย จากฝ่ายกิจการฮาลาล สกอท.
Mtoday ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการหลายราย รวมทั้งจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหลายจังหวัด พบว่า มีการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและมีการเก็บค่าธรรมเนียมโดยระเบียบใหม่ที่แพงกว่าเดิมมาก
กรณีโรงเชือด ฝ่ายกิจการฮาลาลที่รับผิดชอบเรื่องการตรวจสอบโรงเชือด ได้ส่งคน ที่ระดับซูเปอร์ไวเซอร์ หรือผู้ดูแลการเชือดจากส่วนกลาง 160 คน ไปยังโรงเชือดทั่วประเทศ โดยตั้งเงินเดือน 18,000 บาท โรงเชือดบางแห่งต้องใช้ซูเปอร์ไวเซอร์หลายคน ตามกะการทำงาน หากเชือด 24 ชม. ต้องใช้อย่างน้อย 3 คน บางส่วนไปทับคนของฝ่ายฮาลาล ของกอ.จังหวัด ต้องเอาคนของตัวเองออกไป สร้างปัญหาหลายประการ
กรณีต่อมา มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ที่แพงกว่าเดิมมาก กล่าวคือ จากเดิมโรงงานผลิตจะเสียค่าตรวจปีละครั้ง จำนวน 15,000บาท,20,000 บาท และ30,000 บาท ตามขนาดของโรงงาน หลังจากนั้นหากผลิตภัณฑ์ออกจากโรงงานจะต้องจ่ายค่าตราฮาลาล ผลิตภัณฑ์ละ 500 บาท
แต่ระเบียบใหม่ โรงงานที่เป็นOEM หรือโรงงานรับจ้างผลิต จะต้องเสียจ่ายค่าผลิตภัณฑ์เท่ากับการตรวจโรงงาน คือจำนวน 12,000 บาท หาก โรงงานผลิตให้แบรนด์ต่างๆ จำนวน 10 แบรนด์ก็จะต้องจ่าย 120,000 บาท จากเดิมที่ต้องจ่าย ประมาณ 20,000-30,000 บาท ทำให้ผู้ผลิตต้องรับภาระสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตราฮาลาลว่า เป็นตราที่ขูดรีด กระทบต่ออิสลามโดยภาพรวมที่สอนเรื่องความเมตตากรณา
เป็นข้อเท็จจริงที่ฝ่ายฮาลาลจะต้องชี้แจงต่อสังคม ไม่เช่นนั้น ความเสื่อมเสียนี้จะแพร่กระจายเป็นภาพลบของอิสลามไม่หยุดหย่อน เพราะอดีตคนส่งเอกสารที่ได้ดิบได้ดีและลุแก่อำนาจเพียงคนเดียวหรือ
คำถามของสังคมมุสลิม ยังมีไปถึงดร.อิสแมาแอล อาลี ประธานฝ่ายกิจการฮาลาล ที่ดำรงตำแหนางมาหลายสมัยและในสมัยหน้าก็คาดว่า จะได้เป็นประธานฝ่ายกิจการฮาลาลอีก ได้ทำหน้าที่สมกับความเป็นประธาน ได้พัฒนาระบบฮาลาลให้ดีขึ้่น เป็นที่น่าเชื่อถือได้เพียงใด ยังประโยชน์ต่อสังคมมุสลิม กับคำถามง่ายๆว่า ปกติอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่เป็นที่ปรึกษาหลายบริษัท ได้ขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่ เพราะรับค่าตรวจทุกเดือน
ฮาลาลไทยกำลังก้าวสู่บททดสอบที่สำคัญ ในท่ามกลางผลประโยชน์อันมากมาย คนที่รับผิดชอบจะทำหน้าที่ตรงไปตรงมาเพื่อสังคมมุสลิม หรือโอนอ่อนตามผลประโยชน์ ซึ่งไม่เพียงนำความเสื่อมเสียมายังตราฮาลาลเท่านั้น แต่ความเสื่อมเสียจะมาถึงอิสลามและมุสลิมทุกคน