ข้อเท็จจริง! บางประการ ต่อการ สวมใส่ “เครื่องประดับ” ในมุมมอง ของอิสลาม

ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นยุคแห่งแฟชั่นและเทคโนโลยี โลกมันช่างหมุนเร็วจนทำให้เรารู้สึก อาจจะก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่สังคมมุสลิมจะได้รับผลกระทบ ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม

ในความเป็นจริงแล้วพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงอนุมัติให้มวลผู้ศรัทธาทั้งหลายสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ทั้งหมด ยกเว้นบางสิ่งบางอย่างเท่านั้นที่พระองค์ทรงห้ามเอาไว้เนื่องจากไม่สมควรที่จะนำมาใช้และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสเอาไว้ในอายะฮ์ที่ 29 ของซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ความว่า
قال الله تعالى : ” هُوَ الَّذِي خَلَقَ لَكُم مَّا فِي الْأَرْضِ جَمِيعًا ثُمَّ اسْتَوَىٰ إِلَى السَّمَاءِ فَسَوَّاهُنَّ سَبْعَ سَمَاوَاتٍ ۚ وَهُوَ بِكُلِّ شَيْءٍ عَلِيمٌ ” البقرة
ความว่า “พระองค์คือผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งมวลที่มีอยู่ในโลกนี้ไว้เพื่อสำหรับพวกเจ้า ภายหลังได้ทรงมุ่งสู่ฟากฟ้า และได้ทำให้มันสมบูรณ์ขึ้นเป็นเจ็ดชั้นฟ้า และพระองค์นั้นทรงรอบรู้ทุกสิ่ง”
ในขณะที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงอนุญาตให้มวลผู้ศรัทธาทั้งหลายนำบางสิ่งบางอย่างมาใช้ในชีวิตประจำวันได้นั้น พระองค์ก็ทรงห้ามมิให้มวลผู้ศรัทธานำบางสิ่งบางอย่างมาใช้ในชีวิตประจำวันของเขาเช่นเดียวกัน เช่น การใช้สอยทองคำและเงิน การใช้อาภรณ์ที่ทำมาจากไหม เรื่องราวเหล่านี้เป็นประเด็นทางวิชาการที่น่าศึกษาค้นคว้าและทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก

การใช้ภาชนะทองคำและเงิน
จากการศึกษาหลักนิติศาสตร์อิสลาม เราพบว่าไม่อนุญาตให้ผู้มีศรัทธาใช้ภาชนะที่ทำมาจากทองคำและเงิน เช่น จาน ช้อน แก้ว ปากกา อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน สำนักงาน หรือมัสยิด ไม่ว่าทองคำและเงินนั้นจะมีจำนวนน้อยหรือมากก็ตาม นอกจากนั้นแล้วการเป็นเจ้าของอุปกรณ์ดังกล่าวถึงแม้ว่าจะไม่นำมาใช้ก็ตามไม่เป็นที่อนุญาตเช่นเดียวกัน เพราะมีรายงานจากอุมมุสะละมะฮ์ (ร.ฏ.) เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
عن أمِّ سَلمةَ رَضِيَ اللهُ عنها أنَّ رسولَ الله صلَّى اللهُ عليه وسلَّم قال: ” مَن شَرِبَ في إناءٍ من ذَهبٍ أو فِضَّة، فإنَّما يُجرجِرُ في بطنِه نارًا من جَهنَّم ” رواه مسلم
ความว่า “บุคคลใดก็ตามที่ดื่มน้ำจากภาชนะที่ทำมาจากทองคำ หรือเงิน พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)จะให้ไฟจากนรกญ่าฮันนัมไหลวนเวียนอยู่ในท้องของเขา” รายงานโดยอิหม่ามมุสลิม

นอกจากนั้นแล้วมีรายงานจากท่านหุซัยฟะฮ์ บิน ยะมาน (ร.ฏ.) ได้กล่าวว่า ฉันเคยได้ยินท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) กล่าวว่า
عن حُذيفة بنِ اليَمانِ رَضِيَ اللهُ عنه قال: سمعتُ رسولَ الله صلَّى اللهُ عليه وسلَّم يقول: ((لا تَلْبَسوا الحريرَ ولا الدِّيباجَ، ولا تَشربوا في آنِيةِ الذَّهَبِ والفضَّةِ، ولا تأكلوا في صِحافِها؛ فإنَّها لهم في الدُّنيا، ولنا في الآخِرةِ))
ความว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้สวมใส่ผ้าไหม อย่าดื่มน้ำจากภาชนะที่ทำมาจากทองคำและเงิน และอย่ารับประทานอาหารจากจานที่ทำมาจากทองคำและเงินเช่นเดียวกัน เพราะแท้จริงภาชนะที่ทำมาจากทองคำและเงินนั้นเป็นสิทธิของผู้ไม่ศรัทธาในโลกดุนยานี้ แต่พวกเราจะได้สิทธนั้นในโลกหน้าอาคิเราะฮ์”

จากการศึกษาหลักนิติศาสตร์อิสลาม เราพบว่ามีการห้ามใช้ภาชนะที่มีการปะ หรือแปะ หรือฝัง หรือหุ้มด้วยทองคำโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะในปริมาณที่น้อย หรือมากก็ตาม ส่วนในกรณีที่ปะ หรือแปะ หรือฝังภาชนะด้วยเงินนั้นหากมีความจำเป็นและใช้ในปริมาณที่น้อยสามารถกระทำได้ และสามารถนำภาชนะดังกล่าวนั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่มีความจำเป็นและใช้ในปริมาณที่มากไม่สามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน

การใช้ภาชนะที่ถูกชุบด้วยทองคำ หรือเงิน
จากการศึกษาหลักนิติศาสตร์อิสลาม เราพบว่าไม่อนุญาตให้ใช้ภาชนะที่ถูกชุบด้วยทองคำหรือเงินในปริมาณที่มากได้ โดยพิจารณาจากปฏิกริยาที่เกิดขึ้นจากการนำภาชนะนั้นไปเผาไฟ หรือตั้งบนไฟ (การหลอมเหลวของทองคำหรือเงิน) แต่ถ้าชุบในปริมาณที่น้อยมากเมื่อนำไปเผาไฟหรือตั้งบนไฟไม่เกิดปฏิกริยใดๆทั้งสิ้นอนุญาตให้กระทำได้

การใช้ภาชนะที่ทำมาจากวัตถุธาตุอื่นๆที่มีค่า
จากการศึกษาหลักนิติศาสตร์อิสลาม เราพบว่าอนุญาตให้ใช้ภาชนะที่ทำมาจากแร่ธาตุอื่นๆที่มีค่าได้ เช่น ทับทิม ไข่มุก ปะการังบางชนิด เครื่องแก้ว เพราะไม่มีตัวบทห้ามอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงอนุญาตให้ใช้ภาชนะดังกล่าวได้ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานห้ามอย่างชัดเจน และไม่สามารถใช้หลักกิยาส (หลักการเทียบเคียง) กับทองคำและเงินได้

หิกมะฮ์ (วิทยปัญญาหรือเหตุผล) ที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)ทรงห้ามไม่ให้ใช้ภาชนะที่ทำมาจากทองคำหรือเงิน
1. ทองคำและเงินนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งมีค่าและราคา ดังนั้นการนำทองคำและเงินมาใช้เป็นภาชนะในชีวิตประจำวัน เช่น ช้อน จาน ปากกา เป็นต้น ไม่อนุญาตให้กระทำได้เนื่องจากเป็นการลดคุณค่าของทองคำและเงิน
2. การใช้ภาชนะที่ทำมาจากทองคำหรือเงินนั้นเป็นการทำลายความรู้สึกของคนยากจนขณะที่เขาเห็นคนร่ำรวยใช้ภาชนะดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาความรู้สึกของคนยากจนจึงไม่สามารถใช้ภาชนะที่ทำมาจากทองและเงินได้ตามศาสนบัญญัติ
3. พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ไม่ประสงค์ที่จะให้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายแข่งขันกันโอ้อวดในสิ่งที่พระองค์ทรงประทานลงมาให้พวกเขาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการที่พระองค์ทรงห้ามผู้มีศรัทธาทั้งหลายไม่ให้ใช้ภาชนะที่ทำมาจากทองคำหรือเงินนั้นเพื่อสร้างความแตกต่างให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างผู้มีศรัทธากับผู้ไม่ศรัทธา ดังที่ท่านศาสดา (ซ.ล.)ได้กล่าวเอาไว้ในอัลหะดีษบทหนึ่งความว่า “แท้จริงภาชนะที่ทำมาจากทองคำและเงินนั้นเป็นสิทธิของผู้ไม่ศรัทธาในโลกดุนยานี้ แต่พวกเราจะได้สิทธินั้นในโลกหน้าอาคิเราะฮ์”

กรณียกเว้นการสวมใส่ทองคำและเงิน
ประเด็นที่ 1 ตามหลักนิติศาสตร์อิสลามนั้นอนุญาตให้สุภาพสตรีสวมใส่เครื่องประดับที่ทำมาจากทองคำและเงินได้ตามประเพณีนิยมโดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่แสดงออกถึงความฟุ่มเฟือยหรือสุรุ่ยสุร่าย ไม่ว่าสุภาพสตรีท่านนั้นสมรสแล้ว หรือยังไม่ได้สมรส เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ร่ำรวยหรือว่ายากจนก็ตาม เด็กเล็กก็สามารถสวมใส่ทองคำได้ เพราะไม่นับว่าอยู่ในขอบเขตบังคับ ส่วนสุภาพบุรุษไม่สามารถสวมใส่ทองคำได้ตามหลักนิติบัญญัติอิสลาม เพราะมีรายงานจากท่านอะบูมูซา อัลอัชอารีย์ (ร.ฏ.) กล่าวว่า ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) กล่าวว่า
عن أبي موسى الأشعري رضي الله عنه ، أن رسول الله صلى الله عليه وسلم قال : “حُرِّمَ لباسُ الحريرِ والذهبِ على ذكور أمتي وأُحِلَّ لإناثِهِم ” رواه الترمذي
ความว่า “การสวมผ้าไหมและทองคำนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับประชาชาติของฉันที่เป็นชาย แต่ถ้าว่าอนุญาตให้สุภาพสตรีสวมใส่ทั้งสองได้”

 

ประเด็นที่ 2 อนุญาตให้สุภาพบุรุษสวมใส่แหวนที่ทำมาจากเงินได้ เพราะท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ท่านเองก็สวมแหวนที่ทำมาจากเงินเช่นเดียวกัน ดังมีรายงานจากท่านอนัส (ร.ฏ.) กล่าวว่า
عَنْ أَنَسِ بْنِ مَالِكٍ رضي الله عنه ، قَالَ: ((كَانَ خَاتِمُ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مِنْ وَرِقٍ، وَكَانَ فَصُّهُ حَبَشِيًّا)) متفق عليه.
ความว่า “แหวนของท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) นั้นทำมาจากเงิน และหัวแหวนของท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) เป็นหัวแหวนแบบหะบะชะฮ์ (หินชนิดหนึ่งที่ชาวเอธิโอเปียนำมาทำหัวแหวน)”

ส่วนการสวมแหวนที่ทำมาจากทองคำสำหรับสุภาพบุรุษก็ยังเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักนิติบัญญัติอิสลาม เพราะมีรายงานจากท่านอิบนุอับบาส (ร.ฏ.) เล่าว่า “ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) เห็นชายคนหนึ่งสวมแหวนทองคำ ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.)ได้ถอดแหวนทองคำวงนั้นออกจากมือของชายผู้นั้นโดยทันที หลังจากนั้นท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ก็โยนแหวนทองคำวงนั้นทิ้งไป และกล่าวว่า คนหนึ่งคนใดจากพวกท่านจะยึดเอาหินที่มาจากไฟนรกมาใส่ไว้ในมือกระนั้นหรือ ??? หลังจากที่ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) เดินจากไป ชายคนหนึ่งก็กล่าวขึ้นว่า ท่านจงไปเก็บแหวนทองคำวงนั้นมาใช้ประโยชน์เถิด ชายเจ้าของแหวนผู้นั้นกล่าวขึ้นมาว่า ฉันจะไม่เอาแหวนทองคำมาใช้อีกต่อไป เพราะท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ห้ามฉันสวมใส่แหวนทองคำ”

ประเด็นที่ 3 ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นในระดับที่ศาสนาอภัยให้ อนุญาตให้ใช้ทองคำและเงินได้ เช่น ในกรณีที่ไม่มีภาชนะอื่นเลยที่จะใส่อาหารนอกจากภาชนะที่ทำมาจากทองคำหรือเงิน ในกรณีดังกล่าวนี้อนุญาตให้ใช้ได้เท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

การสวมใส่ผ้าไหมในมุมมองของอิสลาม

จากการศึกษาหลักนิติศาสตร์อิสลาม เราพบว่าไม่อนุญาตให้สุภาพบุรุษสวมใส่ผ้าไหมในทุกด้านของการใช้งาน แต่ในมุมกลับสุภาพสตรีและเด็กเล็กสามารถสวมใส่ผ้าไหมได้ เพราะผ้าไหมโดยธรรมชาติของมันแล้วเป็นอาภรณ์ของสุภาพสตรี ไม่สมควรอย่างยิ่งที่สุภาพบุรุษจะเลียนแบบสุภาพสตรีในการสวมใส่ผ้าไหม อีกทั้งยังอาจจะนำไปสู่การแสดงตนยะโสโอหังในทางที่ไม่ถูกไม่ควรอีกด้วย ดังมีรายงานจากท่านอาลี (ร.ฏ.) กล่าวว่า
عن علي ابن أبي طالب رضي الله عنه قال : أنَّ النَّبيَّ صلَّى اللهُ عليه وآلِه وسلَّم أَخَذ حَريرًا فجَعَلَه في يَمينِه، وأَخَذ ذهَبًا فجَعَلَه في شِمالِه، ثمَّ قال: إنَّ هذَينِ حَرامٌ على ذُكورِ أُمَّتي. زاد ابنُ ماجَهْ: حِلٌّ لإناثِهِم.
ความว่า “ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้หยิบผ้าไหมมาวางใส่มือขวาของท่าน หลังจากนั้นท่านก็ได้นำเอาทองคำมาวางใส่ไว้บนมือซ้ายของท่าน และท่านก็กล่าวว่า สองสิ่งนี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับประชาชาติของฉันที่เป็นชาย ท่านอิบนุมาญะฮ์รายงานเพิ่มเติมว่า ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.)ได้กล่าวในช่วงตอนท้ายของอัลหะดีษว่า แต่อนุญาตให้สุภาพสตรีสวมใส่ทองคำและผ้าไหมได้”

ข้อยกเว้นบางประการในการสวมใส่ผ้าไหม

กรณีที่ 1 อนุญาตให้สุภาพบุรุษสวมใส่ผ้าไหมได้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อปกปิดเอาเราะฮ์ (บางส่วนของร่างกายที่ศาสนาใช้ให้ปิด)หรือเพื่อป้องกันความหนาวจัดหรือร้อนจัดที่เกิดขึ้นเมื่อไม่พบผ้าชนิดอื่นที่จะใช้ในการปกปิดร่างกาย
กรณีที่ 2 อนุญาตให้สุภาพบุรุษสวมใส่ผ้าไหมได้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น หรือเพื่อบรรเทาอาการของโรคผิวหนังบางชนิดที่เกิดขึ้นตามร่างกาย เพราะมีรายงานว่าท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ผ่อนปรนให้ท่านอับดุรเราะห์มาน อิบนุ เอาฟ์และท่านซุเบร อิบนุ เอาวาม (ร.ฏ.) สวมเสื้อผ้าไหมได้ในการเดินทางอันเนื่องมาจากทั้งสองมีอาการคันที่ผิวหนัง
กรณีที่ 3 อนุญาตให้สุภาพบุรุษสวมใส่เสื้อผ้าที่เนื้อผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้าชนิดอื่น แต่มีบางส่วนของเสื้อผ้าเป็นผ้าไหมได้ หากส่วนที่เป็นผ้าไหมนั้นมีจำนวนน้อยไม่มาก เช่น ตัวเสื้อและแขนเสื้อเป็นผ้าฝ้าย แต่กระเป๋าเสื้อเป็นผ้าไหม ในกรณีเช่นนี้อนุญาตให้สุภาพบุรุษสวมใส่เสื้อตัวดังกล่าวได้เพราะส่วนที่เป็นผ้าไหมมีจำนวนน้อยกว่าส่วนที่เป็นผ้าฝ้าย