อัยการสูงสุด ตัดสินใจ ไม่อุทธรณ์ คดี พานทองแท้ ชินวัตร หรือ ”โอ๊ค” ฟอกเงินกรุงไทย มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ปิดฉาก คดีประวัติศาสตร์ ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2547 ยุติลง หลังต่อสู้คดีมากว่า 15ปี
วันที่ 28 พ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่น ฟ้อง นายพานทองแท้ หรือ โอ๊ค ชินวัตร บุตรชายคนโตนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คดีร่วมกันกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย 10 ล้านบาท ในความความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91
สำหรับคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง มีคำพิพากษา ยกฟ้องเมื่อวันที่ 25 พ.ย.62 ต่อมาอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ทำความเห็นส่งไปยังอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ว่าเห็นควรไม่อุทธรณ์คดีต่อ และอัยการสำนักงานคดีศาลสูงเห็นด้วย ตามกฎหมายจึงต้องส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ความเห็นของพนักงานอัยการ และคำพิพากษาของศาล ทั้งที่พิพากษายกฟ้อง และที่ทำความเห็นแย้งไว้ท้ายคำพิพากษา ประกอบกับความเห็นของพนักงานอัยการที่เห็นควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว โดยเห็นว่ายังมีประเด็นสำคัญแห่งคดี ที่ควรต้องนำสู่การพิจารณาของศาลสูงเพื่อวินิจฉัย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีความเห็นควรให้นำคดีขึ้นสู่ศาลสูงโดยส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา
ซึ่งคำสั่งชี้ขาดดังกล่าวลงนามโดยรองอัยการสูงสุดปฏิบัติราชการเเทนอัยการสูงสุด โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมาทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษ4 ได้ยื่นขอขยายอุทธรณ์ครั้งที่6 โดยศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เเต่เมื่อ อัยการสูงสุด มีความเห็นไม่อุทธรณ์แล้ว คดีดังกล่าวนี้ถือเป็นอันสิ้นสุด
สำหรับคดีนี้ในศาลชั้นต้น องค์คณะผู้พิพากษา 2 คนมีความเห็นต่างกันในการตัดสิน โดย 1 ในองค์คณะ มีความเห็นแย้งว่า พฤติการณ์ที่มีเช็คเงินลงชื่อนาย วิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร โอนเข้าบัญชีนายพานทองแท้ เป็นความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปีซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย โดยหากคู่ความยื่นอุทธรณ์ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบด้วย โดยเหตุผลคำสั่งชี้ขาดดังกล่าวคาดว่าจะมีการชี้เเจงจากสำนักอัยการสูงสุดต่อไป
สำหรับคำฟ้องคดีนี้ อัยการ ยื่นฟ้อง บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.47 หลังจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร กับพวกร่วมกันกระทำผิดกับอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ ในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารเสียหายจำนวน 10,400,000,000 (หนึ่งหมื่นสี่ร้อยล้านบาท) แล้วนายวิชัยกับพวกร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด โดยนายวิชัย ได้นำบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่มีนายรัชฎา บุตรชาย , นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา เป็นกรรมการฯ บริษัทแกรนด์แซทเทิลไลท์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่มีนายเชื้อ ช่อสลิด เป็นกรรมการฯ มาใช้ในการรับโอนเงิน แล้วนำเงินนั้นไปซื้อขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน โดยนายวิชัย ได้โอนเงินจากการขายหุ้นนั้น ให้นายพานทองแท้ จำเลย จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายรัชฎา บุตรของนายวิชัย และบุคคลในครอบครัวทั้งสองมีความรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
โดยนายวิชัย สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 17 พ.ค.47 จากบัญชีกระแสรายวัน ธ.ไทยธนาคาร สาขาบางพลัด ระบุชื่อนายพานทองแท้ ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.47 จำเลยได้นำเช็คนั้นเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาบางพลัดของจำเลย และวันที่ 24 พ.ค.47 จำเลยได้ถอนเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ของจำเลยอีกอัน จากนั้นระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-26 พ.ย.47 จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีผ่าน ATM ครั้งละ 5,000 – 20,000 บาทรวม 11 ครั้ง และช่วงในวันที่ 14 มิ.ย.47 มีเงินฝากเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ของจำเลย 80,000 บาท แล้ววันที่ 30 พ.ย.47 จำเลยได้ถอนเงิน 8,800,000 บาทจากบัญชีดังกล่าว เข้าฝากบัญชีกระแสรายวันธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ซึ่งมียอดเงินรวมในบัญชี 14,720,352.07 บาท ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค.47 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 14,700,000 บาทจากบัญชีกระแสรายวัน ธ.กรุงเทพสาขาซอยอารีย์ โดยนายวิชัย , นายรัชฎา กับพวก และอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ (รวม 18 คน) ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกคดีร่วมทุจริตการอนุมัติสินเชื่อ คนละตั้งแต่ 12-18 ปี