“จตุพร” ฟันธง ! พปชร. “ถึงจุดจบ” หนีไม่พ้น “วงจรอุบาทว์” อำนาจ-ผลประโยชน์

ประธาน นปช.ยกประวติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต เตือนรัฐบาลจะถึงจุดจบ เพราะ อำนาจและผลประโยชน์ หลัง พปชร.เคลื่อนไหว กดดัน “อุตตม สาวนายน” กระเด็นพ้น เก้าอี้ หน.พรรค และ รมว.คลัง

28 เม.ย.63-นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ PEACE TALK ถึงความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้

นายจตุพร ยกประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ปี 2498-2535 มาอธิบายการต่อรอง แย่งชิงผลประโยน์ทางการเมือง และที่สุดต้องถึงจุดจบจากการต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ เช่นเดียวกับ พรรคพลังประชารัฐ เกิดขึ้นมาในการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 เป็นพรรคการเมืองของฝ่ายอำนาจจัดตั้งขึ้น ผนึกกำลังกับ ส.ว. 250 เสียงสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วในที่สุด จึงเกิดการเคลื่อนไหวกดดันนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ให้พ้นจากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งการกดดันนี้จะนำไปสู่การปรับ ครม.ในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้น พรรคการเมืองแบบพลังประชารัฐ จึงสะท้อนพฤติกรรมทางการเมืองแบบมาเร็วและเคลมเร็ว ด้วยการอ้างถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เสียเอง ส่วน พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่มีความเห็นกับความขัดแย้งในพรรคครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่มีปัญหาเฉพาะพลังประชารัฐ แต่ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยไม่แตกต่างกัน ซึ่งมีความขัดแย้งภายในเกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้นบรรยากาศการเมืองในขณะนี้ จึงเป็นลักษณะคล้ายกับพรรคการเมืองในอดีต อย่าง พรรค เสรีมนังคศิลา หรือ สหประชาไทย เพราะการเมืองเป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์

“นักการเมืองโดยธรรมชาติถูกสร้างให้เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ คนไม่ได้เป็นนัการเมืองอาชีพจะไม่เข้าใจสัจธรรมของนักเลือกตั้ง ที่ไม่รู้จักพอ เพราะการต่อรองผลประโยชน์ทุกเวลาอยู่ในสายเลือดนักการเมือง”

นายจตุพร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ได้ครอบครองอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่าง แต่ขณะนี้ย่อมรู้ดีว่า กำลังจะเจออะไรจากนักการเมือง โดยตามมิติประวัติศาสตร์แล้ว คงจบลงด้วยการยึดอำนาจตัวเอง

“ผมเคยย้ำว่า การประกาศฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดนั้น เป็นการกำจัดสิทธิ์ประชาชน แม้ประชาชนให้ความร่วมมือ แต่ต้องได้รับความคุ้มครอง ดูแลจากรัฐบาล เมื่อไม่ให้เขาทำงาน รัฐบาลต้องเลี้ยงดูเขา อีกทั้งเงินนำมาเลี้ยงดูเขาก็คือเงินของเขา ไม่ใช่เงินของรัฐบาล”

นายจตุพร กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิดนั้น ต้องปรบมือให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่อสู้มาจนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่แค่ 7 คนเท่านั้น แต่คนมีความยากลำบากยังไม่เปลี่ยนแปลง

สิ่งสำคัญ ตนเคยเตือนแล้วว่า การแก้ไขความเดือดร้อนประชาชนต้องมองที่เบื้องหน้า อย่ามองเบื้องหลัง ถ้ามองที่เบื้องหลังคุณจะไม่คิดแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่ถ้ามองเบื้องหน้าเห็นความเดือดร้อน แล้วแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนจบ เบื้องหลังจะมีหรือไม่มีก็จบไปโดยปริยาย แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ แล้วบอกว่าเขามีเบื้องหลังนั้น เป็นคุณจะไปซดยาฆ่าตัวตายหรือไม่ ลองคิดดู

การแก้ปัญหาความเดือดร้อนต้องใจใหญ่ ทำพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ขณะนี้เป็นเดือนยังมีเสียงบ่นซ้ำซากประชาชนไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งน่าจะได้ตั้งนานแล้วเพื่อประทังชีวิต ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการแก้ปัญหาไม่ได้เพราะใจไม่ใหญ่พอ

“อย่าให้ประชาชนหิว รัฐบาลใดปล่อยให้ประชาชนอดอยาก ความล่าช้าเยียวยาคือความไม่ยุติธรรม ถ้าประชาชนฆ่าตัวตายแล้วให้เงินจะเกิดประโยชน์อะไร วันนี้ผมไม่ต้องการให้จบด้วยความสูญเสีย แต่ต้องการให้จบลงด้วยความประชาชนได้รับการแก้ไขความอดอยากความหิวโหย ความทุกข์ยาก ซึ่งไม่ใช่การจบลงแบบประวัติศาสตร์การเมืองเชิงอำนาจเหมือนในอดีต”