จุฬาฯสั่ง งดละหมาดวันศุกร์-งานมัสยิด-งานแต่ง เอกรินทร์ออกโรงค้านทันควัน

สำนักจุฬาราชมนตรี ออกประกาศ ฉบับที่1/2563 เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19)ว่าด้วยเรื่อง การละหมาดวันศุกร์ การละหมาดญามาอะห์ และการจัดกิจกรรมและการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ๆรัฐบาลประกาศห้ามรวมตัว

ในรายละเอียดระบุว่า ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้ลุกลามไปกว่า 150 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ได้ประกาศดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อและลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด โดยให้งดจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคนั้น

สำนักจุฬาราชมนตรีได้พิจารณาตามเจตนารมณ์สำคัญของบทบัญญัติศาสนาอิสลามเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว จึงขอให้พี่น้องมุสลิมพึงตระหนักและปฏิบัติตามเพื่อลดการสูญเสีย และหยุดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ดังนี้
1.สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในพื้นที่ๆฐบาลประกาศห้ามรวมตัวให้งดการละหมาดวันศุกร์และการละหมาดญามาอะห์ที่มัสยิด โดยให้ละหมาดบ่าย(ดุฮฺริ) 4 รอกาอัต ที่บ้านแทน
2.ให้บิหล่านทำหน้าที่อาซานประจำเวลาที่มัสยิดทุกเวลาตามปกติ และให้กล่าวคำว่า หลังจบอาซาน พร้อมแจ้งสัปปุรุษว่า ให้ทุกคนละหมาดที่บ้าน และให้ผู้บริหารมัสยิดจัดการละหมาดที่มีจำนวนไม่เกิน 5 คน โดยเว้นระยะห่างในแถวอย่างน้อย 2 เมตร
3.งดการจัดกิจกรรมและการรวมตัวเป็นกลุ่ม ได้แก่การจัดงานการกุศลขององค์กรมัสยิด มูลนิธิ สมาคม ชมรม และงานบรรยายศาสนธรรม ประจำวัน/ประจำ/ประจำสัปดาห์/ประจำเดือน การออกดะวะห์(การเชิญชวนให้ศาสนอกทำความดี) ทั้งในมัสยิดและสถานที่ต่างๆ การเรียนการสอนศาสนา ทั้งการสอนอัลกุรอ่านและศาสนาภาคบังคับ โดยใหเผู้ปกครองดูแลบุตรหลานของตนให้ทบทวนดังกล่าวภายในบ้าน

4.ให้งดหรือเลื่อนการจัดงานฉลองมงคงสมรสไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นหรือเข้าสู่ภาวะปกติ หรือให้ทำพิธีนิกะหฺ(สมรส) เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่เกิน 10 คน

การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวข้างต้นถือว่า เป็นความจำเป็นตามเจตนารมณ์สำคัญของศาสนาอิสลาม เพราะการมีสุขภาพร่างกายที่ดี เป็นความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าประทานให้กับมนุษย์ทุกคน จึงจำเป็นต้องดูแลรักษาร่างกายให้มีสุขภาพที่ดี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่องค์กร หน่วยงาน หรือผู้เชี่ยวชาญกำหนด เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตของตนเองและสังคมมนุษยชาติ ให้รอดปลอดภัยต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมีความอดทีนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและวิงวอนขอดุอา(ขอพร) จากอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าด้วยบทขอพรนี้

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้นให้ถือปฏิบัติจนกว่าสถานการร์จะเข้าสู่ภาวะปกติหรือรัฐบาลจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ประกาศ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี

หลังจุฬาราชมนตรี มีประกาศ มุสลิมโดยส่วนใหญ่ให้การตอบรับ โดยเห็นการป้องกันอันตราย การปกป้องตนเองจากอันตราย เป็นสิ่งควรกระทำ จะไม่เป็นการทำร้ายตนเองและผู้อื่น ที่ถือเป็นบาปตามหลักการอิสลาม

อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่ไม่เห็นด้วย อาทิ นายเอกรินทร์ อยู่บำรุง บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมมุสลิมได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการห้ามละหมาดวันศุกร์ เพราะเป็นหลักการสำคัญของศาสนา แม้ในสงคราม ยังมีการละหมาด ซึ่งหากมัสยิดใดมีการละหมาดก็จะไปละหมาด
‘เราต้องเกรงกลัวอัลเลาะฮ์ ไม่ใช่เกรงกลัวคนอื่น’ นายเอกรินทร์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม มีส่วนหนึ่งเห็นด้วย แต่ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับท่าทีของนายกเอกรินทร์ อย่าง Rorvee Samwa ระบุว่า ไม่เป็นไรหรอกครับท่าน
เขาวินิจฉัยมาเเล้วท่าน ยอมรับในการตัดสินของผู้นำเถอะครับท่าน

Satit Salamat ระบุว่า ผมว่าไม่ถูกนะครับ ติดเชื้อนี่ ไม่ต้องถึงชั่วโมงหรอกครับ ก้อติดได้แล้ว เชื้อ มาจากสารคั่นหลั่ง น้ำลาย เรานี่แหละ แล้วคนที่เป็นไม่สามารถรู้ได้อยู่แล้ว ต้องรอ14วัน คนที่มาละหมาด ไม่รู้หรอกครับว่าตัวเองเป็นโรค ถ้าท่านจะละหมาด ก็ละหมาดจังหวัดอื่นก็ได้ครับ จุฬาฯปิดแค่จังหวัดเดียว กรุงเทพเป็นกลุ่มสุ่มเสี่ยงเยอะครับ ลองเอาไปคิดดู
นะครับ

MD Deep Side ระบุว่า สรุปว่าผู้นำเรา และบรรดาคณาจารย์ที่สำนักจุฬานี่ คนجهل ช่ายมั้ย คำวินิจฉัยของอาจารย์เหล่านั้นจึงดูไร้ค่า กลายเป็นคำด่าย้อนกลับไป
الوقاية خير من العلاج
ลองเปิดสมองแล้วพิจารณาดูครับ

ตึก สิบสี่ ระบุว่า เขาไม่ได้ห้ามละหมาดครับ มันช่วงภัยพิบัต หากรวมละหมาดเหมือนเดิมไม่มีไร ก็อัลฮำดุลิลลาห์
หากมีการติดเชื้อละ ใครรับผิดชอบ อิหม่ามโดนเต็มๆ รับผิดชอบไม่ไหวหรอกครับ เขาประกาศแล้วในเมื่อนักวิชาการบ้านเราเขากรั่นกรองทางออกให้เเล้ว ศาสนาไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ง่าย
ดูที่ฮารอมซิ ตอวาฟ เอยไรเอย
ความเห็นส่วนตัวครับ