ชัดดาวน์กรุงเทพ! ปิดมหาลัย-สนามมวย-ผับ-บาร์ เลื่อนสงกรานต์ ไม่มีกำหนด

รัฐบาล สั่งปิดสถาบันการศึกษา สถาบันเทิง สนามม้า งดกิจกรรมทางศาสนา 14วัน ระหว่าง 18-31 มี.ค. พร้อม สั่งเลื่อนการจัดเทศกาลสงกรานต์ออกไป

วันที่ 17 มี.ค.63  นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ มีมติเข้มข้นในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการสั่งปิดสถาบันการศึกษา สถาบันกวดวิชา สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ สนามม้า กิจกรรมทางศาสนา การชุมนุมคนหมู่มาก ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เป็นเวลา 14 วัน เริ่ม 18-31 มี.ค. 2563 ให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาทำงานที่บ้าน และเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13-15 เม.ย. 2563 ออกไป แต่ยังไม่กำหนดวันหยุดชดเชยว่าเป็นวันไหน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า แม้จะยังไม่เข้าระยะที่ 3 แต่เพื่อลดการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น ครม.ได้ให้ความเห็นชอบตามข้อสรุปในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เมื่อวานนี้ โดยยืนยันการเลื่อนวันหยุดช่วงสงกรานต์ในปีนี้ออกไป เพื่อลดการแพร่ระบาดจาก กทม.ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม จะมีการนำเสนอมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับการเลื่อนตั๋วเดินทางของประชาชน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน

ครม.ให้ความเห็นชอบทั้งหมด 6 ด้าน คือ การสาธารณสุข เวชภัณฑ์ป้องกัน การร้องเรียนและชี้แจงให้ข้อมูล การต่างประเทศ มาตรการป้องกัน และการเยียวยา โดยด้านการสาธารณสุขยังไม่มีการการปิดเมืองหรือปิดประเทศ การห้ามเข้าออกโดยสมบูรณ์ แต่เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย ชาวต่างชาติในกลุ่มประเทศเสี่ยงที่ได้มีการประกาศแล้ว 4 ประเทศ 2 เขตปกครองพิเศษ จะยังคงต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ออกให้ไม่เกิน 3 วันก่อนการเดินทาง รวมทั้งต้องมีการทำประกันชีวิตและยินยอมให้มีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นเพื่อติดตามตัวด้วย โดยใช้มาตรการเดียวกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

ห้ามข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศ และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางในประเทศ เขตต่อเนื่องที่มีการติดต่อของโรค พัฒนาการกักกันผู้ที่เข้าข่ายรวมทั้งผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ สถานที่ ชุดป้องกัน เครื่องมือ เวชภัณฑ์ โดยมีการจัดซื้อเพิ่มเติมจากต่างประเทศแล้ว แนะนำให้ประชาชนชะลอการเดินทางกลับประเทศ เร่งผลิตเวชกรรมป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากากอนามัยผ้า เจลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีการปลดล็อคเพื่อให้สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น โดยจะสำรวจอุปกรณ์ป้องกันเพื่อให้จัดหาให้กับประชาชนได้เพียงพอรวมทั้งเร่งผลิตหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายและส่งเสริมให้ประชาชนใช้เมื่อเข้าที่ชุมชน นำหน้ากากอนามัยที่ยึดได้มาใช้ พร้อมตรวจสอบการกักตุนการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ตลอดจนการระบายสินค้า