คนปชป.จี้พรรคทบทวนท่าที ‘ไม่พายเรือให้โจรนั่ง’ หลังกรณี’หน้ากากอนามัย’

แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ให้พรรคเตือนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างเเรงว่า ให้มีการปรับ ร.อ.ธรรมนัส ออกจากการเป็นรัฐมนตรี เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่รับไม่ได้หาก นายกฯไม่ทำอะไร พรรคประชาธิปัตย์ ก็ควรที่จะถอนตัวออกมา

หลังจากเกิดเหตุการณ์กักตุนหน้ากากอนามัยจำนวน 200 ล้านชิ้น เผยเเพร่ตามโลกออนไลน์ว่าอาจเกี่ยวพันกับคณะทำงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือไม่ โดย ร.อ.ธรรมนัส ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ล่าสุดปรากฎว่า ในกลุ่มไลน์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เกิดการถกเถียงกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง อาทิ นายเจริญ คันธวงศ์ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนข้อความให้พรรคประชาธิปัตย์ ไปเตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างเเรงว่า ให้มีการปรับ ร.อ.ธรรมนัส ออกจากการเป็นรัฐมนตรี เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่รับไม่ได้หาก นายกฯไม่ทำอะไร พรรคประชาธิปัตย์ ก็ควรที่จะถอนตัวออกมา ยิ่งถ้าเห็นว่า ถ้านายกฯไม่ทำอะไร จะเหมือนกับปลายรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุนหะวัณ ที่มีกรณีทุริต จนพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เข้ามาปฎิวัติ

ทั้งนี้ยังมี ส.ส.เเสดงความเห็นเป็นสองขั้ว ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน คล้ายคลึงกับช่วงก่อนหน้านี้ ที่เกิดการถกเถียงเรื่องการโหวตไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส ในเรื่องการชี้เเจงกรณีพัวพันกับคดีค้ายาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย ที่เสียงส่วนน้อยมองว่า การชี้เเจงยังฟังไม่ขึ้น จนกระทั่งต้องตัดสินด้วยการโหวตลงมติ และเสียงข้างน้อยเเพ้ไป ด้วยคะเเนน 24 ต่อ 17 เสียง อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหา เรื่องกักตุนหน้ากากอนามัย ซึ่งถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เข้าเงื่อนไข ข้อ 3 ในการเข้าร่วมรัฐบาล ว่าหากรัฐบาลบริหารราชการทุจริตคอรัปชั่นประชาธิปัตย์ก็จะทบทวน

ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถอนตัวออกมาก็จะถือเป็นการผิดต่ออุดมการณ์พรรค แต่ก็ยังมี ส.ส.บางส่วน ที่อยากให้อยู่ร่วมรัฐบาลต่อซึ่งจะเป็น ส.ส. ในส่วนที่ต้องการเป็นรัฐมนตรี ทั้งนี้ ผู้บริหารพรรค หรือหัวหน้าพรรคยังไม่มีการตอบข้อความใด ๆ ออกมา และหากรัฐบาลยอมที่จะปรับ ร.อ.ธรรมนัส ออกจากคณะรัฐมนตรี ทางพรรคอาจจะต้องมีการโหวตว่า ควรจะอยู่ต่อหรือถอนตัวออกมา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า เวลา 16.40 น. นายอันวาร์ สาเเละ ส.ส.ปัตตานี และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรค เพื่อขอให้ทบทวน จากกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ขอเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างสถานการณ์การการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ซึ่งถือว่าสมาชิกพรรครับทราบเเล้ว แต่ขณะนี้ มีวิกฤติเกิดการชุมนุมของนักศึกษาเกือบทุกสถาบัน รวมไปถึงที่ผ่านมาตนได้ยื่นขอให้เปิดประชุมวิสามัญพรรคเพื่อแก้ปัญหาภายในพรรคที่มีวิกฤติสมาชิกทยอยลาออกหลายกลุ่ม

ที่ล่าสุด คือนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลาออกจากเหรัญญิกพรรค รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา พรรคมีมติ 24 ต่อ 17 เสียง ให้โหวตให้ความไว้วางใจ ซึ่งหากเทียบเคียงกับสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ปรากฎว่า ฝ่ายรัฐบาลลงมติไว้วางใจให้รัฐบาลบริหารต่อ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนความรู้สึกนึกคิดในเรื่องความถูกผิดของประชาชนทั้งประเทศ

จนมีอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ออกไปจุดกระเเสเรื่องนี้เเล้วเรียกตัวเองว่ากลุ่มกปปส. จนทำให้เกิดการชุมนุมประชาชนออกมาเดินขบวนขับไล่นับล้านคน ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่ง จึงเป็นข้ออ้างให้คสช.ออกมารัฐประหาร จนได้เป็นรัฐบาลคสช. และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 24 ก.พ.63 ซึ่งทราบกันทั่วไปว่า มีเหตุการณ์ที่ฝ่ายค้านลุกขึ้นมาอภิปรายชี้เรื่องทุจริต กรณีการซื้อขายที่ดินในราคา 600 กว่าล้านบาทของบิดานายกฯ ที่สูงกว่าราคาประเมิน 3 เท่า แต่นายกฯตอบคลุมเครือ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายค้าประกาศว่า จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โดยเฉพาะกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ฝ่ายค้านได้นำหลักฐาน คำตัดสินของศาลออสเตเรียมาแสดงว่า มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 4 ปี ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสก็ยอมรับ ตอบคำถามในสภาฯจนดังไปทั่วโลกว่าไม่ใช่เฮโรอีน แต่เป็นเเป้ง ซึ่งการตอบคำถามแบบนี้ ทำให้เกิดข้อกังขาว่า ศาลออสเตเรียตัดสินอย่างนั้นจริงหรือไม่ รวมถึงเรื่องวุฒิการศึกษา ก็ยังมีความเคลือบเเคลงสงสัยอย่างมาก แต่ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ กลับมีมติ 24 ต่อ 17 เสียง ให้ความไว้วางใจรัฐบาล จึงขอชี้เเจงว่า ผู้ที่ลงมติไม่ไว้วางใจ มีจำนวนถึง 17 คน เป็นตัวเลขที่สูงมาก จนตนและเพื่อนสมาชิกต้องออกมาเเถลงข่าว ว่า จำเป็นต้องทำตามมติพรรคด้วยความขมขื่น

“เรื่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติเเฟลชม็อบอยู่ใขณะนี้ด้วยหรือไม่ หากใช่ ประชาธิปัตย์ ต้องร่วมรับผิดชอบในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ และด้วยสำนึกในความรับผิดชอบต่อพรรค และด้วยสำนึกในสิ่งที่พรรคมีมติส่งให้ผู้บริหารพรรคเข้าไปร่วมดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกระผมและสมาชิกจึงไคร่ขอเสนอให้พรรคพิจารณาทบทวนมติของพรรคอีกครั้งหนึ่งด้วยเหตุ เเละผลโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเเละประชาชนเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเรียกความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพรรคกลับคืนมาได้ หากเห็นชอบด้วยขอให้ผู้บริหารพรรคพิจารณาและมีมติจัดการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื่นเรื่องต่อนายกฯให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี นำคนที่สังคมโลกไม่เชื่อถือ และเป็นอุปสรรคแก่การบริหารประเทศออกไปอย่างเร่งด่วน”

ทั้งนี้ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นในไลน์กลุ่มนี้ว่า “ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับที่เราคงจะต้องตัดสินใจไม่พายเรือให้โจรนั่งแล้วครับ!”