โพลล์ชี้ชัด ชาวบ้านเดือดร้อนจากภัยแล้งมากกว่าโควิด-19 ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำกระทบเงินในกระเป๋ามากกว่าโคโรน่า สวนทางกระแสหวาดกลัวโคโรน่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ภัยแล้ง กับ โควิด กรณีศึกษา เสียงเกษตรกร ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,142 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 1 – 6 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.4 ระบุภัยแล้งกระทบมากกว่าโรคโควิด ในขณะที่ร้อยละ 9.6 ระบุโรคโควิด กระทบมากกว่า ภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.1 ระบุ ราคาพืชผลเกษตร กระทบเงินในกระเป๋ามากกว่าโรคโควิด ในขณะที่ร้อยละ 6.9 ระบุ โรคโควิด กระทบเงินในกระเป๋ามากกว่า
ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 39.5 รู้สึกพอใจระดับดีต่อผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง ราคายาง ของเกษตรกร เพราะขายยางได้ราคาดีขึ้น แต่กลัวจะไม่ต่อเนื่อง รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรแต่ยังไม่ได้ราคาที่อยากได้ และต้องการให้ช่วยราคาพืชผลเกษตรกรรายอื่น ๆ ด้วย ในขณะที่ร้อยละ 25.7 พอใจระดับดีมากถึงดีเยี่ยม เพราะขายยางได้ราคาดีขึ้นต่อเนื่อง พอใจราคาที่ได้แล้ว ขายยางได้ราคาดีกว่าหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกร และแก้ปัญหาม็อบจริงจัง อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 34.8 ไม่พอใจเลย เพราะ ยังไม่ได้ราคาที่อยากได้ ต้องการให้แก้ปัญหาครบวงจร
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 ต้องการให้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพิ่มงบประมาณแก้ภัยแล้งช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 11.1 ไม่ต้องการ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ระบุ การปรับ ครม. ไม่มีประโยชน์ ปรับไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น มุ่งแก้ปัญหาดีกว่า ในขณะที่ร้อยละ 26.8 ระบุ มีประโยชน์
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า “เสียงเกษตรกร” เป็นคนละเรื่องกับกระแสที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปเกี่ยวกับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างกว้างขวางในเวลานี้เพราะการทำงานของรัฐบาลและกระแสของคนในเมืองและคนในโลกโซเชียลมุ่งเน้นไปที่ไวรัสโควิด-19 แต่ข้อมูลผลโพล “เสียงเกษตรกร” กลับเป็นคนละขั้วแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ระบุชัดเจนว่าได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าโรคโควิด-19 ราคาพืชผลทางการเกษตรกระทบเงินในกระเป๋าของพวกเขา มากกว่าโควิด-19 แต่ที่ผ่านมายังพอใจการแก้ไขปัญหาราคายางและนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ผลที่ตามมาคือ เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลทุ่มงบประมาณแก้ปัญหาภัยแล้งได้ครบวงจรเพื่อป้องกันแก้ปัญหาเงินในกระเป๋าของเกษตรกรได้ยั่งยืนมากกว่า