มติเอกฉันท์! 445:0 สภา ชูธง ตั้งคณะกมธ.แก้รธน. “ชินวรณ์” ลั่น ต้องปราบโกงให้ได้

สภาฯ ผ่านฉลุย มติเอกฉันท์ 445 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 ตั้ งกมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไข รธน. ด้าน “ชินวรณ์” ชี้ กฎหมายที่ดี ต้องมี นโยบายปราบโกงให้ชัดเจน

วันที่ 18 ธันวาคม 2562 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวาระพิจารณาคือ ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว

โดยส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างสลับกันขึ้นอภิปราย ส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการตั้งกมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญหลายมาตรามีข้อบกพร่อง ควรได้รับการแก้ไข อาทิ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กีดกั้นประชาชน โดยนักกฎหมายที่ไม่สมควรเรียกว่า นักกฎหมายร่างขึ้นมา โดยเฉพาะมาตรา49 ของรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เวลาทหารยึดอำนาจ กลับไม่ให้สิทธิประชาชนต่อสู้ ถือว่าไม่จริงใจให้ประชาชนมีสิทธิปกป้องรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ถ้าทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ต้องให้สิทธิประชาชนจับอาวุธขึ้นสู้กับคนยึดอำนาจได้

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตัวปัญหาที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญนี้คือ ส.ว. ที่ประชาชนไม่ได้เป็นคนเลือก มาจากการแต่งตั้งของคสช.ไม่กี่คน แต่มีอำนาจมากมายเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพื่อมาสืบทอดอำนาจให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่อำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านนั้น แม้หากฝ่ายค้านจะเอาพล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่งได้ แต่ส.ว.ก็สามารถเอาพล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯใหม่ได้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การที่มีญัตติในเรื่องที่เกี่ยวข้องมีถึง 7 ญัตติ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าตัวแทนของพี่น้องประชาชนให้ความสำคัญต่อการร่วมกันศึกษาแนวทางแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และหากมองรัฐธรรมนูญเหมือนกฎหมายอื่นๆ แล้ว ก็ย่อมสามารถแก้ไขได้เช่นกัน โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นฉบับที่มีการแก้ไขยากที่สุด แม้การเมืองในสถานการณ์ปัจจุบันอาจนำไปสู่ชนวนของวิกฤติศรัทธาได้ตลอดเวลา อีกทั้งมีเสียงท้วงติงมาตลอดว่าเหตุใดสภาแห่งนี้เร่งรีบในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เร่งแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนก่อน

นายชินวรณ์ กล่าวว่า แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วญัตติที่เสนอนี้เป็นบทบาทของรัฐสภา ซึ่งตนมีความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ดังนั้นจึงยืนยันว่าจะต้องพร้อมให้สภาเป็นกลไกสำคัญในการรองรับการแก้ไขปัญหาทางการเมือง โดยจะต้องกล้าแสดงออกอย่างชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นประเด็นหลัก แต่เป็นหน้าที่หลักที่คณะรัฐมนตรีจะต้องนำปัญหาเหล่านี้ไปสู่การแก้ไขปัญหาตามนโยบาย และสามารถทำพร้อมกันได้ และสิ่งที่มีการอ้างกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่ในความเป็นจริงพบว่ารัฐธรรมนูญนี้ยังไม่มีเครื่องชี้ที่เป็นจุดเด่นดังว่าแต่อย่างใด

พร้อมกับยกคำกล่าวของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ในวันยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่า “เราไม่สามารถเขียนกฎหมายรัฐธรรมนูญให้คนเป็นคนดีได้ แต่คนดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” ดังนั้นการปราบโกง จึงจำเป็นต้องสร้างบรรทัดฐานของประเทศ และค่านิยมที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น และสร้างองค์กรที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ปราศจากการก้าวล่วงจากผู้มีอำนาจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

จากนั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้สมาชิกฯ ลงมติว่า สมควรให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯหรือไม่ ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า เห็นด้วย 445 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง ไม่มีสมาชิกคนใดลงมติคัดค้าน จึงได้มีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ ฯ 49 คน โดยรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560