กพช.คลอด โรงไฟฟ้าชุมชน ฉุด ศก.ฐานราก เล็ง รับซื้อ 3-5 บ./หน่วย บูมลงทุน 7 หมื่นล้าน

“กพช.” คลอดโมเดล โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ บูมลงทุนระยะ 3 ปี 7 หมื่นล้านบาท จูงใจรับซื้อ FiT 2.90-5.37บาท/หน่วย มอบ “กกพ.” วางเกณฑ์แต่ให้ “พพ.” เจ้าภาพเปิดให้รับข้อเสนอ คาดเริ่มได้ มี.ค.-เม.ย. 63 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า กพช.ได้เห็นชอบ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นสัญญาประเภท Non-Firm และห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงเริ่มต้นเดินเครื่อง โดยในปี 2563-65 จะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งคาดว่าจะเกิดการลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปออกหลักเกณฑ์การรับซื้อและให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน พร้อมตั้งคณะกรรมการบริหารรับซื้อไฟที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานในการกำกับดูแล

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าเป็นรูปแบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (VSPP) คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟได้ประมาณ มี.ค.-เม.ย. 63 โดยกำหนดให้จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) แบ่งออกเป็น 2 โครงการ (1) Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 แห่งใน 2 พื้นที่ และที่เหลือจะเป็นของเอกชนอื่นๆ และ 2. โครงการทั่วไปจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

สำหรับรูปแบบร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณ 60-90% และ (2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณ 10-40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้ (1) สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย (2) สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Hybrid ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย

ส่วนพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ครอบคลุมหมู่บ้านโดยรอบโรงไฟฟ้าที่อยู่ในรัศมีจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้า ดังนี้ (1) 5 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (2) 3 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 100 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (3) 1 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 100 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในกรณีที่มีการทับซ้อนกันของเขตพื้นที่ ให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อการพัฒนา “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” เป็นสำคัญ และชุมชนยังคงได้รับผลประโยชน์ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปกติ

“ผู้เสนอโครงการต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย” นายสนธิรัตน์กล่าว

สำหรับรูปแบบโรงไฟฟ้ามี 4 โมเดล ได้แก่ 1. ชีวมวล 2. ชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3. ชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ 4. Hybrid คือ 1+2+3 รวมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งราคารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 MW 4.8482 บาทต่อหน่วย ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 MW 4.2636 บาท ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 3.76 บาทต่อหน่วยก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย 4.7269 บาทต่อหน่วย รวมทั้งกำหนด Fit พรีเมียมให้กับพื้นที่พิเศษที่อยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง