เปิดตำนาน รัฐธรรมนูญ “ใบข่อย” ฉบับ ถาวร ของราชอาณาจักรไทย ร.7 ทรงให้เขียนลงใน “สมุดไทย” เพราะถือว่าเป็น “ของขลัง”ต่อการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย
10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ ย้อนไปเมื่อวันเดียวกันนี้ เมื่อพุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ชั้นบนซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก ด้วยพระองค์เอง เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475”
การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 นี้ มีที่มาจากเมื่อ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ครั้งมี สภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มีการประชุมครั้งแรกในวันนั้น ได้มีการดำเนินงานที่สำคัญที่นอกจากตั้งรัฐบาลชุดแรก คือ รัฐบาลของพระยาโนปกรณ์นิติธาดาแล้ว ก็คือการตั้งคณะอนุกรรมการสภาไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ดังที่มีการบันทึกเล่ากันสืบมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ว่า ในวันนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว เพราะได้สร้างขึ้นมาด้วยเวลากระทันหัน อาจมีข้อบกพร่องได้ จึงควรจะได้ตั้งผู้มีความรู้ความชำนาญตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่”
ที่ประชุมเห็นชอบ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตบดี
พระยามานวราชเสวี
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์
พระยาปรีดานฤเบศร์
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
นายพันตรีหลวงสินาดโยธารักษ์
ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน พระยามโนปกรณ์นิติธาดาประธานกรรมการราษฎรได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ตั้งพระยาศรีวิศาลวาจา กับนายพลเรือโทพระยาราชวังสัน เพิ่มเติม เป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนทั้งหมดเป็น 9 คน
คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดการร่างรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ก็สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้เรียบร้อย นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 โดยให้เวลาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับร่างไปอ่านประมาณ 10 วัน และได้นำร่างรัฐธรรมนูญกลับมาเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเริ่มพิจารณารายละเอียดอีกในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เสนอให้สภาพิจารณาทุกวันตั้งแต่เช้าจนเย็น เพื่อจะได้พิจารณาให้เสร็จเรียบร้อยภายในเวลาสิ้นเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากมีฤกษ์วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วว่าเป็นวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
สำหรับประเด็นฤกษ์ยามนี้ พระยามโนปกรณ์เป็นผู้บอกกับที่ประชุมสภาว่า
“…เมื่อได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตรทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้น เป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม ได้ 3 ฤกษ์ ฤกษ์ 1 ตกวันที่ 1 ธันวาคม ฤกษ์ 2 ตกวันที่ 10 ธันวาคม ฤกษ์ 3 ไปตกกลางเดือนมกราคม จึงได้คิดว่าสำหรับฤกษ์หนึ่งนั้นเวลากระชั้นเกินไปคงไม่ทัน จึงได้กำหนดเป็นวันที่ 10 ธันวาคม … โดยที่ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะให้ขลัง เพราะฉะนั้นต้องการเขียนใส่สมุดไทยซึ่งจะกินเวลาหลายวัน…”
กระทั่ง การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
*** ข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความ พระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475) โดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร เผยแพร่ในฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า