เปิดใจ’ฮาซัน ยามาดีบุ’ไปยูเอ็นไม่เกี่ยว BRN ระบุ ถูกเชิญไปในนามNGO

ฮาซัน ยามาดีบุ” เปิดใจ ไปพูดปัญหาภาษามลายูในเวที UN ในนามภาคประชาสังคม ไม่ใช่ BRN ชี้รัฐบิดเบือนข้อมูลเรื่องส่วนตัว ยันพ่อกับพี่ชายไม่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง เตรียมฟ้องปกป้องความถูกต้อง

ล่าสุดถูกขู่ฆ่า เป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัว ย้ำข้อเสนอ “ภาษามลายู” หากอนุรักษ์จะเกิดประโยชน์เพราะไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังใช้ภาษามลายูและตัวเขียนแบบยาวี

The Reporters โดยฐาปณี เอียดศรีชัย ได้สัมภาษณ์ นายฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา  ที่ จ.ปัตตานี หลังเดินทางกลับจากกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วมีกระแสข่าวกล่าวหาในหลายประเด็น จึงต้องชี้แจง

ฮาซัน กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้ไปโดยการเชิญของ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN และ Minority Right Group International หรือ MRG ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เชิญไปในนามบุหงารายเพื่อการศึกษา ไม่ได้ไปในนามตัวแทนประเทศไทย เป็นการเชิญองค์กรที่ทำงานด้านภาษา การศึกษาและอัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยทั่วโลกมากกว่าร้อยประเทศ ซึ่งกลุ่มบุหงารายา ทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และภาษามลายู และมีอีกองค์กรจากประเทศไทยที่ทำเรื่องการรักษาอัตลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยง ได้รับเชิญไปด้วย

“สำหรับหัวข้อภาษามลายู เป็นหัวข้อที่เรากำหนดเองทั้งหมด คนที่ไปมีสิทธิ์พูดหรือไม่พูด ภายในเวลาสองนาที เป็นประเด็นที่เตรียมไปเอง เพราะมันเป็นสิ่งที่เราพบเจอในพื้นที่ เรื่องการศึกษา ภาษา อัตลักษณ์ของมลายู สิ่งที่ผมพูดคือความคล่องตัวหรือประสิทธิภาพการเรียนการสอนภาษามลายูว่ามีปัญหา หนึ่งในนั้นคือการละเลยจากภาครัฐ คือทุกประเทศรายงานในลักษณะเดียวกัน เพื่อที่รัฐจะได้นำเอาประเด็นที่องค์กรภาคประชาสังคมเสนอกลับไปทบทวนแก้ไข” ฮาซัน กล่าว

นายฮาซัน ชี้แจงว่า กลุ่ม บุหงารายา ทำเรื่องการศึกษา อัตลักษณ์ และภาษาในพื้นที่อย่างยาวนาน ได้ยินประเด็นปัญหาจากโรงเรียนตาดีกา ปอเนาะ ที่มีอยู่ในพื้นที่ ปัญหาคือการแทรกแซงจากรัฐ รัฐยังคงหวาดระแวง โรงเรียนเหล่านี้ และนำอัตลักษณ์ไทยเข้าไป ซึ่งพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธอัตลักษณ์ไทย แต่ควรจะส่งเสริมอัตลักษณ์มลายูไปด้วย สิ่งที่พูดมาเกิดจากการทำเวที จากการทำงานมากว่าสิบปี ข้อมูลจึงมาจากการสะท้อนจากชุมชน

ส่วนกรณีรองโฆษกรัฐบาลออกมาแถลงว่าข้อมูลที่นายฮาซันพูดนั้นไม่ถูกต้อง นายฮาซัน กล่าวว่า สิ่งที่โฆษกออกมาแถลงมันทำให้คิดหนักว่ารัฐบาลเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปาตานีแค่ไหน

“คือเราไม่ได้ต้องการสัญลักษณ์ภาษามลายูที่ติดอยู่ตามป้ายเท่านั้น ที่เราอยากได้คือการบรรจุเป็นข้อบังคับเป็นระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษร ถูกกำหนดจากจากส่วนกลาง ว่าควรส่งเสริมหรือใช้ภาษามลายูในโรงเรียนหรือป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ส่วนที่โฆษกพูดเรื่องชื่อหมู่บ้าน หรือ ป้ายต่างๆนั้น เอาจริงๆมันมีแค่ 5 % เท่านั้น และส่วนใหญ่สะกดผิดหมดเลย เพราะรัฐไม่ได้จัดตั้งหนวยงานที่ดูแลเรื่องภาษาโดยเฉพาะ ป้ายต่างๆเกิดจากการทำของ อบต.หรือ ศอ.บต. ยังไม่ได้เป็นป้ายทางหลวงที่กำหนดจากส่วนกลาง ป้ายต่างที่มีอยู่นั้นมีการสะกดมันสะเปะสะปะ ไม่ถูกต้อง และยิ่งเป็นปัญหา” ฮาซัน ชี้แจง

ส่วนกรณีมีสื่อบอกว่าฮาซันบิดเบือนข้อมูลทำให้เข้าใจผิดเรื่อง Minority หรือชนกลุ่มน้อยนั้น ฮาซัน กล่าวว่า ที่จริงแล้วคอนเซปต์ของชนกลุ่มน้อยนั้นมันกว้างมาก ถ้ารัฐมองแต่ด้านการเมืองมันจะมีปัญหามาก ตอนไปนี่เจอทั้ง คนพิการ LGBT คนนับถือศาสนาที่ต่างกัน ซึ่งเรียกว่า Minority มันน่าจะมีการทำความเข้าใจใหม่ เพราะในภาษาไทยยังให้ความหมายแบบเก่าเป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นคำที่ Negative หรือเป็นลบ

นอกจากนี้กรณีมีการรานงานข่าวว่า ฮาซันเป็นแนวร่วมของ BRN หรือไม่ ฮาซัน คิดว่างานข่าวกรองของฝ่ายความมั่นคงน่าจะไม่มีประสิทธิภาพ การนำเสนอแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในพื้นที่

“ยิ่งมาบอกว่าพ่อผมเสียชีวิตจากการถูกยิง พี่ชายถูกยิง อยากจะบอกว่าพ่อผมไม่ได้ถูกยิง แต่เสียชีวิตเพราะโรคชรา อยากประกาศอย่างชัดเจน ไปพิสูจน์ใบมรณบัตรที่อำเภอได้ ผมเป็นพี่คนโต ไม่มีพี่ชายทุกคนก็รู้ ข้อมูลแบบนี้ไม่ใช่ความจริงเลย มันจะยิ่งสร้างความเสียหายและลดทอนความน่าเชื่อถือของคนที่มีต่อรัฐ” ฮาซัน กล่าวย้ำ

ฮาซัน กล่าวด้วยว่า “การนำเสนอโดยสื่อที่ออกมาเกี่ยวกับตัวผมนั้นผิดหมดเลย โดยเฉพาะเรื่องพ่อและพี่ชาย ถ้ารัฐยิ่งพยายามนำเสนอข้อมูลนี้อีก ก็จะยิ่งทำให้ผมเสียหาย ผมอาจจะต้องเรียกร้องหรือฟ้อง บางทีผมก็ต้องสู้เพื่อผดุงความถูกต้องเกี่ยวกับตัวผม”

ส่วนกรณีมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงกลุ่มบุหงารายา กับ BRN ด้วยนั้น ฮาซันกล่าวว่า อาจจะเกิดจากกความระแวงและเข้าใจผิด ด้วยข้อมูลที่ผิดพลาด เขาเลยฟันธงไปอย่างนี้ ถ้าผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับ BRN ผมคงกลับมาประเทศไทยไม่ได้ คงถือพาสปอร์ตไม่ได้ และคงมีชีวิตปกติไม่ได้ แต่ผมเป็นคนทำงานภาคประชาสังคมจริงๆที่ทำงานด้านส่งเสริมและพัฒนา อัตลักษณ์ ภาษามลายู เท่านั้น

นายฮาซัน เห็นว่า ภาษาคือรากเหง้าของปัญหาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เขาจึงนำเสนอเรื่องนี้ในเวที UN

“ถ้าเราคิดดีๆ เรื่องภาษา การศึกษา และ อัตลักษณ์ เคยเป็นเรื่องใหญ่มากๆในอดีต ในข้อเสนอเ 7 ข้อของหะยีสุหลง มีถึงสามข้อที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอด้านภาษา 1. ต้องการให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย 2.มีการเรียนการสอนภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย 3.เจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่จำนวน 80% ต้องพูดภาษามลายู ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่อยากให้กำหนดในระเบียบ ข้อบังคับของรัฐไปเลย นี่คือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืน การจัดงานเทศกาลต่างๆ การทำป้ายต่างๆที่มีอยู่นั้น เป็นแค่เรื่องการเยียวยาไม่ใช่การแก้ปัญหา สิ่งที่ผมต้องการมากที่สุดคือการบรรจุอยู่ในโครงสร้างในระเบียบและข้อบังคับของรัฐ”

นายฮาซัน เห็นว่า หากมีความเข้าใจภาษามลายู จะเป็นการหนุนเสริมสันติภาพและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม

“แน่นอน มันเคยเป็นข้อเสนอในอดีต และเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ปัญหาความไม่สงบดำรงอยู่ และผมคิดว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก ถ้าสนับสนุนภาษามลายู เพราะที่นี่คือที่เดียวในอาเซียนและโลกที่ใช้ภาษามลายูตัวเขียนอาหรับหรือที่เรียกกันว่ายาวีอย่างแพร่หลาย หลายประเทศมุสลิมพยายามอย่างมากที่จะอนุรักษ์ พวกเขาภาคภูมิใจมากที่ยังมีการใช้อยู่ที่นี่ ถ้าประเทศไทยส่งเสริมก็จะได้หน้าตาและความภาคภูมิใจ ถ้าเป็นเช่นนั้น สันติภาพ ความสงบสุข และความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน” นายฮาซัน ยามาดีบุ และได้นำจดหมายเชิญมายืนยันด้วย

#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #ฮาซัน #ภาษามลายู #UN #ชายแดนใต้