เครือข่ายเยาวชนหิ้วปิ่นโตกินข้าวหน้า สธ. วอนขออาหารปลอดสารพิษให้ลูกหลาน หวั่นกลุ่มผลประโยชน์เดินเกมส์ยื้อมติแบน 3 สารพิษ พร้อมยื่นหนังสือสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล เดินหน้าสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลานไทย
วันนี้ (26พฤศจิกายน 2562) เวลา13.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active youth) พร้อมด้วยแกนนำเยาวชน หลายเครือข่าย อาทิ เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ เครือข่ายเยาวชนจิตอาสา เครือข่ายเยาวชนนักขับเคลื่อนสังคม เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ฯลฯ กว่า 40 คน ยื่นหนังสือถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงจุดยืน สนับสนุน สธ. และรัฐบาล เดินหน้าแบน 3 สารพิษอันตราย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลานไทย
ทั้งนี้เครือข่ายฯ ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ นำปิ่นโตใส่อาหารมาร่วมกันทานหน้ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อสื่อถึงความต้องการอาหารที่ปลอดจากสารเคมีให้เด็กเยาวชนได้เติบโตอย่างปลอดภัย มีคุณภาพที่ดี หลังพบข้อมูลสารเคมีทางการเกษตรทำเด็กสมองฝ่อ มีปัญหาด้านพัฒนาการ เสี่ยงออทิสติก
นายสุรนาถ กล่าวว่า เราเป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชนมาในหลายประเด็น ซึ่งสามปีที่ผ่านมาไดรวมตัวดำเนินกิจกรรมทางสังคมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชนและคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งในอีกด้านหนึ่งเราคือเยาวชนที่เป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ที่อยากส่งเสียงในฐานะคนที่ต้องกิน ต้องบริโภค ที่ผ่านมาเครือข่ายได้ติดตามสถานการณ์กรณีการแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้แบน 3 สารพิษอันตรายดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ล่าสุดมีสัญญาณจากบางหน่วยงานออกมาว่า จะมีการเตรียมเสนอยืดระยะเวลาการแบนสารเคมีทั้งสามตัวออกไปอีก 6 เดือน
“เครือข่ายฯ เห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยปล่อยให้สารพิษอันตราย ทั้ง 3 ชนิดนี้ สร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนมาอย่างยาวนาน เป็นอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปล่อยให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจของบรรดาพ่อค้าสารเคมี อยู่เหนือสุขภาพความเป็นความตายของประชาชนทั้งในมิติของเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภค นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเศร้าใจยิ่ง เพราะมีข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่เชื่อถือได้และมีความเป็นกลางชี้ชัดว่า เมื่อมีการตรวจสอบสารตกค้างในพืชผักผลไม้ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด ตลอดจนห้างสรรพสินค้าต่างๆ พบค่าของการปนเปื้อนสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค เช่น เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง โรคเนื้อเน่า และสารพัดโรค ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการส่งผลต่อการเป็นออทิสติกในเด็ก มีปัญหาต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ ซึ่งเขาเหล่านั้นจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งน้ำ ดิน และสัตว์ต่างๆ อาทิ ปู ปลา กบ ซึ่งเป็นอาหารของคนไทยต่างมีสารปนเปื้อนในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และที่สำคัญมากๆคือคุณภาพชีวิตของชาวไร่ชาวนาผู้ใช้สารเคมีเหล่านี้ ซึ่งก็คือญาติพี่น้อง พี่ป้าน้าอาของเรา ต่างก็ได้รับผลกระทบและรับอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อม ท่ามกลางการตักตวงผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม” นายสรนาถ กล่าว
นายสุรนาถ กล่าวอีกว่าเครือข่ายฯ ในฐานะกลุ่มคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนและเป็นเยาวชนผู้บริโภค จึงมีจุดยืนและข้อเสนอกรณีการแบน 3 สารพิษอันตรายต่อกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล ดังนี้คือ 1. เครือข่ายฯขอสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้ายกเลิกการใช้ 3 สารพิษอันตราย ภายในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2562 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอให้ยึดมั่นในจุดยืนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ มากกว่าผลประโยชน์ทางการค้า 2. เครือข่ายสนับสนุนให้รัฐบาล ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อทำให้เด็ก เยาวชน และพลเมืองทุกคนของประเทศนี้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และเติบโตภายใต้บริบทสังคมที่มีไม่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งมิติทางอาหาร และสิ่งแวดล้อม 3. เครือข่ายฯ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี ซึ่งก็คือญาติพี่น้อง พี่ป้าน้าอาของเรา จึงขอสนับสนุนให้มีการใช้แนวทางเกษตรกรรมและการผลิตอาหารที่ยั่งยืน เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ และ 4 เครือข่ายขอชื่นชมจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความชัดเจนในการปกป้องสุขภาพของประชาชน และยินดีเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและพัฒนาประเทศของเรา ให้มีระบบอาหารที่ปลอดภัยและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เรื่องนี้กระทรวงมีจุดยืนที่ชัดเจน เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับสารเคมีโดยตรง ซึ่งพบการเสียชีวิตเฉียบพลัน ขณะที่ ผู้บริโภคก็ได้รับอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ สะสมในร่างกายและกระทบต่อสุขภาพระยะยาว และจะเดินหน้าเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาต่อไป