อุทธรณ์ ยืนยกฟ้อง ! “ทักษิณ” พ้นผิด ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปม แทรกแซง TPI

161

ศาลอุทธรณ์ ยืนยกฟ้อง “ทักษิณ” พ้นข้อกล่าวหา ม.157 ตั้ง คลัง แทรกแซงฟื้นฟู “ทีพีไอ” ชี้ ฟังไม่ได้เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ขณะที่การเสนอชื่อคนบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ทุกฝ่ายยินยอม

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 พ.ย. ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน ที่เลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา” อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อธ.อม.4/2561

ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โจทก์ ยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ส.ค.61 ด้วยคะแนนเสียงข้างมากยกฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 จำเลย

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกล่าวหาเมื่อปี 2546 นายทักษิณ ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้นำเสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ

โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาประเด็นที่ ป.ป.ช.โจทก์ ยื่นอุทธรณ์แล้วเห็นว่า แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงให้อำนาจกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ลูกหนี้ก็ตาม

แต่กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะรวมถึงการพยุงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เกิดความเสียหายมากจนยากแก่การแก้ไข

การเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอ ซึ่งประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหากทีพีไอไม่สามารถฟื้นฟูได้และตกเป็นผู้ล้มละลาย กิจการเหล่านั้นอาจหยุดชะงักประเทศชาติและประชาชนย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พฤติการณ์ย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเร่งด่วนที่กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการเมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ กระทรวงการคลังจึงเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอได้

ส่วนที่ ป.ป.ช.โจทก์ อุทธรณ์ว่า นายทักษิณ จำเลยเป็นผู้ริเริ่มผลักดันสั่งการและเป็นตัวการร่วม รวมถึงไม่ทักท้วงการพิจารณาของ ครม.เพื่อเปลี่ยนจากวาระเพื่อทราบ เป็นวาระเพื่อพิจารณา มีผลให้กระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนของทีพีไอโดยมีเจตนาครอบงำกิจการของทีพีไอ กับเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องนั้น

ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยเชิญตัวแทนของเจ้าหนี้และผู้บริหารของทีพีไอเข้าหารือที่บ้านพิษณุโลกเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอและการตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่เท่านั้น แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้เลือกกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามข้อเสนอของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องกับเหตุในคดีนี้ อีกทั้งต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่ตั้งบริษัทบริหารแผนไทย จำกัด

เป็นผู้บริหารแผนตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้โดยเห็นควรขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนหากกระทรวงการคลังยินยอม ซึ่งในท้ายที่สุดที่ประชุมเจ้าหนี้และทุกฝ่ายยินยอมให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

เมื่อไม่ปรากฏว่า นายทักษิณ จำเลย เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ หรือการบริหารกิจการ หรือเข้าไปรับโอนถือครองหุ้นของทีพีไอจึงรับฟังไม่ได้ว่า การเสนอชื่อคณะผู้บริหารแผนของจำเลย เป็นการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง

การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตามฟ้อง ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของ ป.ป.ช.โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน