เสรีพิศุทธ์ กระอัก! โดน”กมธ.-ผู้ตรวจฯ” รุมกระหน่ำ ปมเรียก”ลุงตู่-บิ๊กป้อม”แจง

กมธ.ปปช.ซีกรัฐ ชง ปธ.สภาฯ สอบ “เสรีพิศุทธิ์” ทำผิดข้อบังคับ เรียก “บิ๊กตู่-ลุงป้อม” แจง ปม ถวายสัตย์ไม่ครบ “สิระ” อัด จ้องล้างแค้นส่วนตัว ลั่นเดินหน้าปลดพ้น เก้าอี้ ขณะ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เด้งรับลูก งัดข้อกฎหมาย ยัน กมธ.ปปช.ไม่มีอำนาจ

วันที่ 15 พย. เวลา 12.30 น.ที่ รัฐสภา กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ในซีกรัฐบาล นำโดย นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ นายภานุ ศรีบุษยกาญจน์ ส.ส.สุราษฏร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ นายอาสพลธ์ สรรณไตรภพ ส.ส. ศรีสะเกษ นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน จนท.สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ทบทวนมติ คณะกรรมาธิการฯปปช. ให้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงอีกครั้ง ส่อขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

นายสิระ กล่าวว่า ในฐานะกรรมาธิการฯได้ทำหนังสือยื่นถึงประธานสภาฯ ให้พิจารณาว่ามติในที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติที่ไม่ชอบหรือไม่ และขัดกับข้อบังคับ สภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 90 หรือไม่ เพราะตนมีความไม่สบายใจ ในการทำงานของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานกรรมาธิการฯ แทนที่จะปราบปรามการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่โกงประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ผ่านมา 4 สัปดาห์แล้วที่ยังใช้เวลาอันมีค่าของประชาชน มาทำเรื่องส่วนตัวเป็นการชำระแค้นกันหรือไม่

ด้าน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาฯสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พรบ.คำสั่งเรียก ของ คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธ โดย เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 ให้กมธ.มีอำนาจเพียง “เรียก” มิได้ให้อำนาจในการ “ออกคำสั่งเรียก” เหมือนมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ

ทั้งนี้ นายรักษเกชา ยืนยันว่า การพิจารณาดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นการพิจารณาข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับการที่กมธ.ป.ป.ช. จะออกคำสั่งเรียก นายกรัฐมนตรี กรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน และ เมื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เป็นดุลยพินิจของประธานกมธ.จะพิจารณาจะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งเป็นดุลยพินิจของผู้ที่ถูกเรียกว่าจะไปให้ข้อมูลหรือรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ