นักกฎหมาย ชี้ ปมถวายสัตย์จบแล้ว ศาลวินิจฉัยแล้ว ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรใด เตือนนายกฯ ไปชี้แจงเท่ากับทำผิดกฎหมาย
นายทิวา การกระสัง นักกฎหมายและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เขียนจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ปมถวายสัตย์จบได้หรือไม่ กรรมาธิการมีอำนาจเรียกนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงได้หรือไม่
ในรายละเอียดจดหมายเปิดผนึกอระบุว่า
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ในหมวด ๘ คณะรัฐมนตรีมีบัญญัติไว้ใน
มาตรา ๑๕๘ ถึง ๑๘๓ ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นคือ มาตรา ๑๖๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิภาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำต่อไปนี้
ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี
ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและ
ประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
เหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ไม่เป็นไป
ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า การแถลงสัตย์ที่มีข้อความไม่เป็นไป
ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้สถานะของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ไม่อาจเข้ารับหน้าที่ได้ตาม
มาตรา ๑๖๑ วรรคแรก หรือไม่
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีในหมวด ๘ ไม่มีบทบัญญัติ
แห่งมาตราใด หรือข้อความใดกำหนดว่า หากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่กล่าวคำถวายสัตย์ตาม
ข้อความที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หรือใช้ภาษาพูดทั่วไปก็คือ การเป็น
นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ไม่มีผลสมบูรณ์ ซึ่งโดยทั่วไป หากกฎหมายมีเจตนากำหนดให้กิจกรรม
ใด ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจะมีผลทำให้กิจกรรมนั้นเป็นโมฆะ
หรือไม่สมบูรณ์กฎหมายต้องกำหนดไว้ เมื่อกฎหมายไม่กำหนดไว้ ถือว่ากิจกรรมนั้นได้กระทำแล้ว ถึงแม้
จะไม่กระทำตามกฎหมายกำหนดไว้โดยสมบูรณ์ ดังนั้น ถึงแม้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะกล่าว
คำถวายสัตย์โดยมีข้อความไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าหากไม่ทำ
ตามนั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงถือว่าการแถลงสัตย์ของ
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้ว และมีผลสมบูรณ์
ที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียะเวส พยายามใช้เหตุนี้ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของ
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ใช้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ
เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยไว้ในเรื่องพิจารณาที่ ต.๓๗/๒๕๖๒
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๗.๔๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแทนดิน และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม
๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีเข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเผ้า
ทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณะอักษร พร้อม
ทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น ๕ ตึกบัญชาการทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์การตามรัฐธรรมนูญใด ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๖ วรรคสาม และมาตรา ๔๗ (๑)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๑ วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และ
หน่วยงานของรัฐ”
ดังนั้น คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร เป็นองค์การหนึ่งของรัฐสภาตาม
รัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ดังนั้น คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียะเวส เป็นประธานฯ จึงไม่สามารถ
ใช้อำนาจของประธานกรรมธิการ เรียกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไปเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถวายสัตย์ และจะนำเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกัน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การถวายสัตย์ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
ดังนั้น การใช้ดุลยพินิจของพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ เรียก
นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีฯ ไปชี้แจง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ด้วยเหตุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ข้าฯ วินิจฉัยข้างตน นายกรัฐมนตรีและรอง
นายกรัฐมนตรี จึงไม่ควรไปชี้แจงข้อเท็จจริงนี้ต่อคณะกรรมาธิการฯ และไม่ควรที่จะส่งบุคคลอื่นหรือชี้แจงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพัน คณะรัฐมนตรีด้วย หากนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงก็จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นเดียวกัน