“อนุทิน” ยืนกราน ไม่ชี้แจง สถานทูตสหรัฐฯ ปม ขอไทยทบทวนมติแบนสารพิษ ลั่นยึดกฎหมายไทย แฉ ต้นตอหนังสือมาจากสภาหอการอเมริกา ส่งมา กดดัน ก่อนลงมติถึง 11 วัน ย้ำหนักแน่น สธ.ไม่เปลี่ยนจุดยืนแบนสารพิษ
วันนี้ (25 ต.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกาทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อขอให้ทบทวนการแบนสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะ สาร”ไกลโฟเซต” ตามที่ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าจริงๆ แล้วสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกาลงนามตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2562 แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการประชุมพิจารณาแบนสารเคมีเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำไมมีการออกหนังสือล่วงหน้ามาถึง 11 วัน เช่นนี้แสดงว่าเป็นการกดดันหรือไม่ จะมาบอกว่าจะมีปัญหาเรื่องการนำเข้า ตนคงไปว่าเขาไม่ได้ เพราะเขาห่วงเรื่องกระเป๋าของเขา ไม่ได้ห่วงสุขภาพของคนไทย เพราะฉะนั้นเราต้องมีมาตรการ ถ้ากังวลว่าจะมีสารตกค้างก็ต้องมาพิสูจน์ว่าจะนำเข้ามาโดยไม่มีสารตกค้าง แต่นี่กลัวขายของไม่ได้เลยมาบอกให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามสารพิษเพื่อให้ใช้ได้ แล้วเราจะยอมหรือไม่
นายอนุทินกล่าวว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมภายใต้กฎหมายของประเทศไทยใช่หรือไม่ หรือประชุมภายใต้กฎหมายต่างชาติ เพราะฉะนั้น กฎหมายไทยให้อำนาจคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาการใช้หรือห้ามใช้ ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตราย จำนวน 29 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีความรู้ทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาเรียกประชุมในวันเดียว แต่มีการเตรียมมาเป็นปี และมีมติการห้ามใช้สารเคมีเหล่านี้ไม่ได้มีการกดดันใดๆ ทางการเมืองแม้แต่น้อย มติที่ออกมาให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้ก็เป็นไปตามสำนึกความห่วงใยต่อพี่น้องและสุขภาพประชาชน
เมื่อถามว่า สถานทูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือโดยแนบท้ายหนังสือของสภาหอการค้าสหรัฐฯ ขอให้ไทยมีการทบทวนมติแบนสารเคมี โดยเฉพาะไกลโฟเซต ไทยจะยืนยันตามมติเดิมหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขยืนยันตามมติเดิม ส่วนกระทรวงอื่นก็ต้องแล้วแต่เจ้ากระทรวง เราก้าวก่ายกันไม่ได้ จริงๆ ก็ไม่ควรก้าวก่ายกัน กฎหมายใครกฎหมายมัน เมื่อถามต่อว่าจะต้องชี้แจงปหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ก็แล้วแต่ เพราะไม่ได้ส่งหนังสือมาถึงตน และตนก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปชี้แจง แต่หน้าที่ของ สธ.คือรับผิดชอบสุขภาพประชาชน อะไรก็ตามที่บริโภคเข้าไปแล้วเป็นอันตรายต่อร่างกาย สัมผัสแล้วเกิดแผลพุพอง สูญเสียอวัยวะ ตรงนี้เป็นคนละเรื่องกับการค้า ซึ่ง สธ.เกี่ยวข้องกับสุขภาพชีวิตคน เรื่องการค้าไม่ใช่เรื่องที่ สธ.จะให้ความเห็นอะไรได้ หรือจะมาเปลี่ยนแปลงจุดยืนของ สธ.ได้