‘บิ๊กป้อม’ โบ๊ย ไม่เรื่องเรื่อง พล.อ.สมโภชญ์ เงินเจริญ โดนจับข้อหาหลอกหลวงประชาชน ศาลไม่ให้ประกันตัว เรียกรับเงินจากบริษัทติดตั้งไฟฟ้า 44 ล้านแต่ไม่มีงานให้ตามกล่าวอ้าง
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่รัฐสภา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลไม่ให้ประกันตัวและฝากขัง พล.อ.สมโภชน์ เงินเจริญ หรือ เสธ.ไบ๋ อดีตผู้ช่วยหัวหน้าเสนาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่อ้างเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกรับผลประโยชน์มูลค่า 44,333,300 บาทว่า ก็รู้จักดีไม่ใช่หรือ แต่ตนไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินคดี เมื่อถามว่าจากนี้จะตรวจสอบอย่างไรกรณีคนระดับนายพลไปเรียกรับเงิน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีหรอก นายพลที่ไหนเขาจะไปเรียก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง คุมตัว พล.อ.สมโภชน์ หรือไบ๋ เงินเจริญ อายุ 63 ปี อดีตที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตผช.หน.เสนาธิการ รมว.กระทรวงกลาโหม ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 1453/2562 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2562 ฐานฉ้อโกงประชาชนมูลค่าความเสียหาย 44,333,300 บาท มาฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 16–27 ต.ค. นี้ เนื่องจากต้องสอบพยานอีก 7 ปาก, รอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา และสรุปสำนวนเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาสั่งการ
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า ช่วงเดือน มี.ค. 2561 ผู้ต้องหาได้ชักชวนผู้เสียหายเข้าร่วมโครงการ “ติดตั้งหลอดประหยัดไฟ LEDภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ” โดยผู้ต้องหาได้แนะนำตัวว่า เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถรับงานได้ 100 โรงเรียน ที่ จ.ขอนแก่น งบประมาณโรงเรียนละไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อให้รองรับเป็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบเฉพาะเจาะจง ผู้เสียหายต้องจ่ายค่าจองงานเป็นค่าดำเนินงานภายในพื้นที่ จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ของค่างานทั้งหมด แต่ผู้เสียหายไม่ได้รับการจ้างงานตามที่ตกลงไว้ และทวงถามมาตลอด จนถึงเดือน ม.ค. 2562 ก็ยังไม่ได้เซ็นสัญญาจ้างงานเพื่อทำโครงการดังกล่าว โดยผู้ต้องหาบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา อ้างว่า เบิกงบไม่ทัน ไม่สามารถทำโครงการนี้ได้ จนผู้เสียหายได้เห็นข่าวจึงทราบว่าถูกหลอกลวงจึงเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง
ต่อมาพนักงานสอบสวนจับกุมผู้ต้องหาได้ จึงแจ้งข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343 ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนจากบริษัทผู้เสียหาย รวม 7 บริษัท ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาด้วย ขณะที่ญาติของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์จำนวน 3 ล้านบาท ขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี รวมทั้งจำนวนทุนทรัพย์ความเสียหายแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ในชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ