สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากผลการวิจัยของกาวิน แลมเบิร์ด (Gavin Lambert) สถาบันวิจัยเบเกอร์ (Baker Research Institute) เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทำการวิจัยจากผู้ที่มีสุขภาพปกติจำนวน 101 คน ทำการวัดระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในร่างกาย หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนแห่งความสงบ ในแต่ละฤดูกาล โดยเปรียบเทียบจากปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลา เช่น อุณหภูมิ ฝนตก ระยะเวลาแดดออก และ สภาวะความกดอากาศ
ผลการวิจัยพบว่า แสงธรรมชาติมีผลต่อ ระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในทางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อความรู้สึก โดยในวันที่แดดออกเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจะผลิตสารเซโรโทนินได้มากกว่าวันที่ระยะเวลาแดดออกน้อยหรือฝนตก เมื่อสารสารเซโรโทนินลดต่ำลง จะส่งผลต่อการมีภาวะซึมเศร้า กล่าวคือ มีอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถมีสมาธิกับสิ่งที่ทำได้นานๆ รู้สึกเหนื่อย ขาดพลังงาน ขาดความสนใจในกิจกรรมประจำวัน หงุดหงิดง่าย และต้องการนอนมากขึ้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในวันที่ฝนตก
ดังนั้นการได้รับปริมาณแสงธรรมชาติที่พอเพียงในแต่ละวัน จึงมีผลดีต่อสุขภาพจิตใจ ทำให้อารมณ์ดี มองโลกในแง่บวก ส่งผลให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันราบรื่นมากขึ้น ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนในวัยอื่นๆ ควรหาโอกาสรับแสงธรรมชาติ เช่น การเดิน หรือวิ่งออกกำลังกายในตอนเช้า การจัดที่พักอาศัยให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงอย่างพอเพียง เป็นต้น
ฝนตกสลับแดดออกแบบนี้อย่าลืมหาเวลาออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ รับไอแดดกันบ้างนะครับ หมอตี๋เป็นห่วง