ผนึกกำลัง ฟันธง! “สมชัย-เจิมศักดิ์” ฉะ คสช. จงใจสืบทอดอำนาจ ปมตั้งคำถามพ่วง ให้ ปชช.สับสน

“สมชัย-เจิมศักดิ์” ฟันธง “คสช.” ตั้งใจสืบทอดอำนาจแน่นอน มีความชัดเจน ตั้งแต่ การตั้ง “คำถามพ่วง” ในการทำประชามติ ที่สร้างความคลุมเครือให้กับ ประชาชน ต่อการลงคะแนนเสียงเลือก นายกรัฐมนตรี ใน รัฐสภา โดย ยืนยัน จงใจหวังประโยชน์ทางการเมือง ชัดเจน

8 ตุลาคม 2562 ที่สถาบันรัฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และโลกาภิวัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี มีการจัดเสวนาเรื่อง “ประชารัฐประหาร จาก กกต. สู่ ม.44” โดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า หากถามตนว่ารัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า นำมาสู่การสืบทอดอำนาจในเวลาต่อมาหรือไม่ ขอตอบว่าใช่แน่นอน 100% โดยดูจากการออกแบบกติกาต่างๆ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญจนถึงกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ ตนได้ตั้งข้อสังเกตและทักท้วงตลอดมาตั้งแต่ก่อนจะถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือมาตรา 44 ปลดออกจาก กกต. แล้ว เช่น กฎหมายว่าด้วย กกต. ที่ให้ กกต. ชุดเดิมซึ่งมาตามขั้นตอนของ รธน.ฉบับ 2550 สิ้นสภาพไปโดยอ้างเรื่องไม่อยากให้มีปลา 2 น้ำ เนื่องจากคุณสมบัติของ กกต. ใน รธน. ฉบับ 2560 ที่มี 7 คน ตั้งไว้สูงกว่าของฉบับ 2550 ที่มี 5 คน ตนมองว่าเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ เพราะ กกต. มีคนเข้า-ออกเป็นปกติ อย่างไรก็ต้องมีปลา 2 น้ำ

เช่นเดียวกับการตั้งคุณสมบัติของ กกต. ไว้สูงมากจนถูกเปรียบเทียบว่าคงต้องไปเชิญมหาเทพมาเป็น ตนมองว่าท้ายที่สุดจะได้คนที่ทำงานไม่เป็น แทนที่จะได้คนที่มีประสบการณ์เรื่องการเลือกตั้งจริงๆ ขณะที่กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตนก็ไม่เห็นด้วยเรื่องให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต แม้จะมาจากพรรคเดียวกันแต่หมายเลขแต่ละเขตไม่เหมือนกัน ส่วนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองเขียนแม้ไว้ดีแล้วแต่กลับไปใช้คำสั่ง คสช. ยกเว้นหลายเรื่อง ส่วนกฎหมายการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็เขียนไว้ดีแต่วิธีการกลับไปใช้อีกแบบหนึ่ง

“คำถามพ่วงประชามติ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการแล้วก็สอนวิจัย เราก็เห็นว่าการตั้งคำถามแบบนี้มันเป็นคำถามที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและมันทำให้เกิดความไม่ชัดเจน เช่น ในช่วง 5 ปีแรกของการทำหน้าที่ของรัฐสภา เพื่อประโยชน์ของการปฏิรูปทางการเมือง เห็นสมควรให้สมาชิกรัฐสภามีส่วนร่วมในการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ผมก็บอกว่าประโยคทำนองนี้เป็นคำถามนำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปทางการเมือง มันก็คือคำนำตั้งแต่เริ่มต้น เห็นสมควรให้สมาชิกรัฐสภา คนก็ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงใคร” นายสมชัย กล่าว

ขณะที่ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชานแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากดูข้อมูลจากหนังสือ “กกต. ม. 44 เชิงอรรถการเมืองไทย พ.ศ. 2556-2561” ที่นายสมชัยเขียนบอกเล่าเรื่องราวช่วงปลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงปลายปี 2556 จนถึงวันที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ สั่งปลดจาก กกต. ในช่วงต้นปี 2561 ตนขอชมความสามารถทางวิชาการของนายสมชัย ที่ตั้งข้อสังเกตกฎหมายแต่ละฉบับ โดยเฉพาะประเด็นตำถามพ่วงตนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

“คำถามพ่วงในประชามติ ผมเรียนตรงๆ ผมรับไม่ได้ ผมคิดว่าคำถามพ่วงแย่มาก เป็นคำถามชี้นำ และนอกจากชี้นำแล้วยังหลอกชาวบ้านอีก ให้รัฐสภามีส่วนในการเลือก ประชาชนรู้ไหมว่าสมาชิกรัฐสภาคือ ส.ว. และ ส.ส. เรารู้แต่ชาวบ้านเขาจะมานั่งตีความอีกไหม เขาก็บอกเห็นด้วยสิ สมาชิกรัฐสภาเป็นคนเลือก ไม่เช่นนั้นใครเลือก ขณะเดียวกันเพื่อที่จะให้ปฏิรูปบ้านเมืองเดินต่อไปได้ เขียนแบบนี้มันไม่ใช่ประชามติแล้ว ผมคิดว่าแย่มาก” นายเจิมศักดิ์ กล่าว