กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดีกับแกนนำฝ่ายค้านและนักวิชาการ 12 คน ในข้อหาแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ในเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่”
วานนี้ (3 ต.ค. 2562) พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้รับมอบอำนาจจากแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลทั้ง 12 คน ผู้อภิปรายในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณลานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 28 ก.ย.
คำร้องทุกข์กล่าวโทษระบุว่าเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้เข้าไปตรวจสอบพบว่าในเวทีเสวนาดังกล่าว บุคคลทั้ง 12 คน ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยมีประชาชนร่วมรับฟังประมาณ 150 คน โดยมีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กพรรคประชาชาติ และเผยแพร่เนื้อหาของเวทีเสวนาดังกล่าวลงในช่องยูทิวบ์เพื่อให้กับประชาชนทั่วไปรับชมรับฟัง เข้าข่ายขัดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
“กลุ่มต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 12 คน ได้มีการพูดนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” พล.ต.บุรินทร์ระบุในคำร้องทุกข์กล่าวโทษจึงขอให้ตำรวจดำเนินคดีทั้ง 12 คน ให้ได้รับโทษตามกฎหมายในความผิดฐาน “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นเหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชนฯ” ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116
สำหรับผู้ต้องหา 12 คน ประกอบด้วย
1.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อายุ 78 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
2.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 40 ปี หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
3.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคประชาชาติ
4.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อายุ 75 ปี หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ
5.นายนิคม บุญวิเศษ อายุ 49 ปี หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย
6.นายมุข สุไลมาน อายุ 70 ปี กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ
7.พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อายุ 64 ปี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
8.นายสมพงษ์ สระกวี อายุ 69 ปี อดีตสมาชิกวุฒิสภา และตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย
9.นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อายุ 47 ปี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
10.น.ส.อสมา มังกรชัย อายุ 45 ปี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
11.นายรักชาติ สุวรรณ อายุ 55 ปี เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
12.นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อายุ 48 ปี นักวิชาการอิสระ
โดยงานเสวนาหัวข้อ “พลวัติแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ฝ่ายค้านเพื่อประชาชนสัญจรภาคใต้ พบประชาชนที่จังหวัดปัตตานี” ของ 7 พรรคฝ่ายค้านระหว่างวันที่ 27-28 ก.ย. ซึ่ง เฟซบุ๊กพรรคประชาชาติ รายงานเนื้อหาบางส่วนที่นายวันมูหะมัดนอร์ หัวหน้าพรรค กล่าวบนเวทีดังนี้
นายวันมูหะมัดนอร์ได้ก้มคารวะต่อชาวปัตตานีที่ได้ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นจำนวนสูงที่สุดในประเทศ รวมถึงชาวยะลาและนราธิวาสที่ไม่รับรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน วันนี้ปรากฏชัดว่าวิสัยทัศน์ของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว้างไกล เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่ามีปัญหา เรารู้ว่าเหตุของปัญหาอยู่ที่ไหนและพยายามช่วยกันแก้ ส่วนตัวมองว่าทั้งรัฐธรรมนูญและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีปัญหาพอกัน แต่ไม่รู้จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกไปก่อนดี แต่ส่วนตัวอยากเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพราะเป็นคนแรกที่สร้างปัญหา ถ้ายังดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไป โอกาสการแก้ปัญหาของประเทศจะมืดมน โอกาสการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะลำบาก…ที่สำคัญถ้าพล.อ.ประยุทธ์ลาออก ส.ว.จะได้เลิกทำหน้าที่ทดแทนบุญคุณที่เลือกเขามา จะได้ใช้สติปัญญาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แก้ไขกฎหมายให้ประชาชนได้ประโยชน์
ขณะที่เฟซบุ๊กของ นางชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มก.ได้โพสต์ข้อความที่พูดบนเวทีเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ซึ่งบีบีซีไทยคัดมาบางส่วน ดังนี้ ปัญหา ชจต.เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนบอกว่าสมควรเป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายควรจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการแก้ไขปัญหา ดิฉันอยากเน้นย้ำว่าความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผล ต้องไม่แยกออกจากประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เอื้อต่อการสร้างการมีส่วนร่วม การคุ้มครองเสรีภาพ การเปิดกว้าง และการแสดงจำนงทางการเมือง เพราะฉะนั้น ภายใต้ระบอบ คสช.5 ปีที่ผ่านมา และระบอบประยุทธ์ในตอนนี้ ปัญหาชายแดนใต้ไม่มีทางที่จะดีขึ้น และภายใต้ รัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจระบอบเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
นางชลิตาย้ำในช่วงท้ายว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เพราะที่ผ่านมามีงานวิชาการหลายชิ้นที่บอกว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จริงแล้วเป็นปัญหาเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบัน ที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้ ดังนั้นจึงหวังว่าในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะมีพื้นที่ที่สามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”