แก้กฎหมายปลดล็อกกัญชา รัฐต้องเลิกผูกขาด ประเทศไม่ล้าหลัง

50

ภูมิใจไทย รับความเห็นแก้กฎหมายยาเสพติด ภาคประชาชน เสนอรัฐต้องอย่าผูกขาด ทลายกฎกฎให้ชาวบ้านเข้าถึง ประเทศจะไม่ล้าหลัง

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ในการแก้ไขกฎหมายกัญชาเสรี เพื่อนำไปแก้ไขพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่) พ.ศ…. และ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ… ก่อนนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า โดยมีนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย และผู้เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐ เอกชน ประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

นายศุภชัย กล่าวว่า พรรคได้ร่างกฎหมายหลายฉบับ เพื่อยื่นเข้าสู่รัฐสภาให้ทันสมัยประชุมนี้ โดยเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่เห็นควรให้เพิ่มเติมคือมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัว และปลูกเพื่อผลิตใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงหน่วยงานที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนากัญชาและฝิ่น เนื่องจากฝิ่นเป็นพืชอีกชนิดที่สามารถนำไปผลิตเป็นมอร์ฟีนได้ และหากทำได้จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ และอาจต่อเนื่องเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้กับประเทศได้ด้วย

น.พ.สำเริง แหยงกระโทก กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การอนุญาตปลูกตามกฎหมายเดิม ต้องมีหน่วยงานภาครัฐ หรือ กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ ว่า ปลูกเพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นความเห็นที่แคบ กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ในการช่วยเหลือหมอพื้นบ้าน ดังนั้น จึงควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อให้กัญชาถูกนำมาผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และพ.ร.บ.ที่ถูกนำมากล่าวถึงในวันนี้ทั้ง 2 ฉบับ หากได้รับการแก้ไขจะช่วยให้ปัญหานี้หมดไป

นายบัณฑูร นิยมาภา ผู้คร่ำหวอดในวงการกัญชา นำเสนอความเห็นว่า สารในกัญชาสามารถสกัดนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 500 ชนิด และมีพืชอีกหลายชนิดที่สามารถสกัดสารในตัวของมันเองมาใช้ในทางการแพทย์เช่นเดียวกัญชา และประเทศไทยก็นำมาสกัดใช้โดยถูกกฎหมาย แต่สำหรับกัญชายังไม่ถูกปลดล็อก ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด คือ ให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่) พ.ศ…. และผ่านร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ… หรือกล่าวง่ายๆ คือ การอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ก็สามารถแก้ปัญหาได้

น.พ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลของสมาคม พบว่า กัญชาที่มีหลายสายพันธุ์ในประเทศ มีความสามารถในการรักษาโรคที่แตกต่างกัน และพบด้วยว่า สายพันธุ์หางกระรอก เหมาะสำหรับการนำมาสกัดสารเพื่อนำไปใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง และมีมากที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ในการเก็บข้อมูลในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าอำเภอภูพาน ไม่ได้พบเฉพาะสายพันธุ์หางกระรอกเท่านั้น แต่พบสายพันธุ์อื่นอีกมาก แต่หากลงลึกเรื่องสายพันธุ์กัญชาที่สามารถนำมาผลิตเป็นยาในประเทศไทย คือ สายพันธุ์ที่นำมาจากอัฟกานิสถาน ที่ตรวจพบว่ามีสารทีเอชซีเพียงชนิดเดียว และมีประโยชน์ต่อการรักษามะเร็งตับ ส่วนสายพันธุ์หางกระรอก เหมาะสำหรับนำมาสกัดไปใช้รักษามะเร็งลำไส้ และอาจมีผลข้างเคียงทำให้นอนไม่หลับ สำหรับสายพันธุ์ฝอยทอง พบว่า มีผลในการรักษามะเร็งปอด ผลข้างเคียง ทำให้นอนไม่หลับ

น.พ.สมนึก กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีเกษตรเป็นรากฐาน หากใช้เกษตรนำโดยการสร้างนวัตกรรม ก็เปรียบเสมือนการสร้างกัญชาให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้การยอมรับจากนานาชาติ กรณีที่พรรคภูมิใจไทยต้องการนำเสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อให้ประชาชนปลูกกัญชาได้ถูกกฎหมายนั้น ตนมีความเห็นเพียงควรสร้างกติกาในการปลูกให้แข็งแรง การปลูกด้วยเมล็ดต้องได้รับการลงทะเบียน มีหน่วยงานรับรอง และหากกัญชาที่ปลูกมีค่าทีเอชซีเกิน 0.5 ก็ต้องนำไปเข้ากระบวนการทางการแพทย์ แต่ถ้าน้อยกว่านั้น ต้องนำไปใช้ประโยชน์ในทางเครื่องสำอางเท่านั้น นอกจากนี้ มีความเห็นว่า การอนุญาตให้ปลูกที่บ้านได้ ควรเป็นสายพันธุ์ที่มีค่าทีเอชซีไม่สูงมาก และมีที่มาของเมล็ดอย่างถูกต้อง

“สารทีเอชซี ไม่ได้เป็นสารตัวเดียวที่ใช้ประโยชน์ได้ในกัญชา และกัญชาไทยมีสารชนิดอื่นที่รักษาโรคเบาหวาน โรคต้อหิน และโรคอื่นได้ ดังนั้นถ้าต้องการปลูกกัญชาที่มีสารซีบีดี ก็สามารถปลูกในชุมชนได้ แต่ต้องมีโรงงานผลิตยารองรับ เพื่อการพึ่งพาตนเองของชุมชนได้ ผมยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ต้องอาศัยกัญชาจากต่างประเทศ เพราะเรามีพร้อม แค่ต้องทำต้นทางให้ถูกต้อง กรณีปลูกบ้านใช้ในครัวเรือน ต้องเป็นสายพันธุ์ที่ถูกต้องเท่านั้น” น.พ.สมนึก กล่าว

นางรสนา โตสิตระกูล เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวให้ความเห็นในเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว ว่า เห็นด้วยที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่) พ.ศ…. และ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ… แต่ควรระบุรายละเอียดในร่างพ.ร.บ.ให้ชัดเจนมากกว่านี้ โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมกำกับสถาบันด้วยความชอบทางกฎหมาย ที่มีนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีกำกับ นั่นหมายถึงจะทำให้สถาบันมีความชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจควบคุม ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นสถาบันที่ไม่มีน้ำหนักในสังคม จึงควรขยายความและเพิ่มอำนาจการควบคุมสถาบันให้ชัดเจน

“ขอให้พรรคภูมิใจไทย ตอบข้อสงสัยในรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ว่า จะแก้ปัญหาการผูกขาดของภาครัฐ ที่กำหนดระยะเวลา 5 ปี ให้อยู่ในความควบคุมของสถาบันด้วยหรือไม่ รวมถึงกรณีการรับซื้อ สถาบันสามารถรับซื้อจากประชาชนที่ปลูกในครัวเรือน 6 ต้นด้วยใช่หรือไม่ และต้องขายให้กับสถาบันเท่านั้นหรือ และกรณีของหมอพื้นบ้านที่ต้องการซื้อกัญชา กำหนดให้ต้องซื้อจากสถาบันเท่านั้นใช่หรือไม่ เพราะหากถูกรัฐผูกขาดเป็นระยะเวลา 5 ปี แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านก็จะถูกปิดกั้น การอนุญาตให้ประชาชนปลูกในครัวเรือนได้ 6 ต้น ก็ไม่เกิดประโยชน์”

นางรสนา กล่าวด้วยว่า รายละเอียดในร่างพ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ขอให้พรรคภูมิใจไทย ระบุเรื่องของการเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน สามารถปลูกใช้ พัฒนาสายพันธุ์ ศึกษาวิจัยนวัตกรรมการรักษาโรคจากกัญชา เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติ หากไม่ทำ อีกไม่นานประเทศไทยจะต้องซื้อสิทธิบัตรจากต่างชาติมาใช้แน่นอน

นายพรชัย ชูเลิศ ตัวแทนมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า จากทำงานด้านเกษตรมามากกว่า 10 ปี เห็นเนื้อหาที่พรรคภูมิใจไทยร่างขึ้น รู้สึกมีความหวัง การอนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ยังมีข้อกังวลตรงที่ การปลูกกัญชาควรเป็นเมล็ดที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และหากจะปลูกในเชิงเศรษฐกิจ ก็ขอให้มองรูปแบบการปลูกข้าว ถ้าต้องปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือนก็ไม่ต้องกำกับอะไร แต่ถ้าปลูกระบบแปลงใหญ่ ก็ขอให้ในรูปแบบการปลูกเพื่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้อนุญาตให้ปลูกในเชิงพาณิชย์มากไป เพราะจะควบคุมได้ยาก

อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า การที่พรรคภูมิใจไทยเสนอให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่) พ.ศ…. และ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ… นั้น เราสามารถทำได้ แต่ขอให้อยู่ภายในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1972 และอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ.1971 ซึ่งการลงนามพันธะผูกพันระหว่างประเทศในฉบับนี้ ไม่ได้แยกกัญชาหรือกัญชง เพราะใช้คำรวมกันว่า Cannabis

อาจารย์ปานเทพ กล่าวอีกว่า อนุสนธิสัญญาฉบับนี้ ในมาตรา 28 เรื่องกัญชา ระบุว่า ถ้าภาคีประเทศใดอนุญาตให้เพาะปลูกกัญชาเพื่อผลิต ต้องนำระบบการควบคุมเรื่องต้นฝิ่นตามมาตรา 23 มาบังคับใช้ ซึ่งมารา 23 คือ การตั้งสถาบันฝิ่น และพรรคภูมิใจไทยก็กำลังร่างพ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทยขึ้น ในที่นี้รูปแบบก็น่าจะมีการทำงานเหมือนสถาบันฝิ่น

นอกจากนี้ คู่อนุสัญญานี้ไม่นำไปใช้บังคับการเพาะปลูกต้นกัญชาเพื่อการอุตสาหกรรม (เส้นใยและเมล็ดเท่านั้น) ในประเทศไทยน่าจะมีความหมายถึง พืชครัว ซึ่งหมายความว่า จะไม่บังคับการเพาะปลูกต้นกัญชาเพื่อการอุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ได้

“ในมาตรา 28 ระบุว่า บรรดาภาคีประเทศต้องกำหนดมาตรการควบคุมเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดการค้า ผิดกฎหมาย ซึ่งใบของต้นกัญชา แสดงว่าต้องมีมาตรการควบคุม ถ้าเราจะเป็นสมาชิกภาคีนี้อยู่ ขอเรียนว่า กัญชาและฝิ่น ไม่ได้บอกว่าห้ามใช้ แต่อนุสัญญานี้ระบุว่าจะไม่มีความผิดเลย ถ้านำไปใช้ทางแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ อยู่ที่แต่ละประเทศนำไปกำหนดทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์อย่างไร”

อาจารย์ปานเทพกล่าว กล่าวอีกว่า ในอนุสัญญานี้ ให้คำจำกัดความ ว่า ต้องมีสถาบันฝิ่นแห่งชาติ ในประเทศไทย เราก็คือ สถาบันพืชยาเสพติดแห่งชาติ ที่อยู่ระหว่างการร่างพ.ร.บ.โดยพรรคภูมิใจไทยนี้ และต้องอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลเพียง 1 สถาบัน จึงเป็นที่มาว่า ควรมี ตั้งสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย และต้องเป็นองค์การมหาชน เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการใดๆ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรยกเลิกมาตรา 21 ในบทเฉพาะกาล ที่ระบุให้ผูกขาดกับรัฐเป็นระยะเวลา 5 ปี เพราะยังมีกลุ่มที่มีความสามารถในการผลิตและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ที่มีซีบีดีสูง ทีเอชซีต่ำ นำออกมาใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนมากขึ้น หากปล่อยให้รัฐผูกขาดเช่นนี้ ประเทศจะล้าหลัง อย่างไรก็ตาม ควรอนุญาตให้แพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้าน ปลูกเพื่อขึ้นทะเบียนและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และหากมีความเด่นชัดเรื่องกัญชา ก็ควรรับรองให้เป็นหมอพื้นบ้านทางด้านกัญชา หากทำเช่นนี้ ประเทศไทยจะรอดและเกิดพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ขึ้นได้