สวมฮิญาบครั้งแรก รัฐมนตรีหญิงมุสลิม มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรก และเป็นรัฐมนตรีหญิงไทยคนแรกที่สวมฮิญาบ
วันที่ 26 สิงหาคม 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจราชการในพื้นที่และติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพัฒนาสหกรณ์ และใช้ขบวนการสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร
โดยในการตรวจเยี่ยมจุดซื้อน้ำยางรายย่อยบ้านทุ่งดุก หมู่ 1 ตำบลท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา น.ส.มนัญญา ได้สวมฮิญาบครั้งแรก และเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่ เป็นมุสลิม และในวันที่ 26 สิงหาคม เป็นครั้งแรกที่เธอสวมฮิญาบ ในระหว่างการตรวจเยี่ยมชุมชนมุสลิมที่นาทวี
น.ส.มนัญญา เป็นมุสลิม เชื้อสายปาทาน พื้นเพอยู่จังหวัดอุทัยธานี เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอุทัยธานี ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบส้มหล่น เมื่อพี่ชายนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ที่ได้รับโควต้ารัฐมนตรี แต่มีกระแสสังคม จึงยอมถอยให้น้องสาวเข้ามาเป็นแทน
ในชีวิตปกติ น.ส.มนัญญา ไม่ได้สวมฮิญาบ ทั้งในการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี แม้แต่การออกงานมุสลิมก็ตาม นับเป็นครั้งแรกในการตรวจเยี่ยมชุมชนมุสลิมที่ นาทวี จ.สงขลา
ฮิญาบ เป็นข้อกำหนดทางศาสนาอิสลามที่มีต่อสตรีมุสลิม ให้เปิดได้เฉพาะใบหน้าและฝ่ามือ ในทางการเมืองอเป็นเรื่องใหม่ที่นักการเมืองสตรีมุสลิมสวมฮิญาบ ก่อนหน้านี้แม้จะมีส.ส.หญิงมุสลิม แต่ยังไม่มีใครสวมฮิญาบเข้าสภา ยกเว้นตอนร่วมงานของมุสลิม แต่หลังมีการยึดอำนาจ มีการแต่งตั้ง สปช. และสปท.ที่เป็นสตรีมุสลิม ซึ่งพวกเธอได้สวมฮิญาบเข้าสภาเป็นครั้งแรก
สำหรับน.ส.มนัญญา ดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการเดินทางไปตรวจเยี่ยมจ.สตูลและสงขลา เธอได้ตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรหลายแห่ง
ในการตรวจเยี่ยมที่อ.นาทวี เธอได้เยี่ยมชมเกษตรกรการสาธิตหาค่า DRC หรือการอบแห้ง ซึ่งเป็นวิธีการหาค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งในน้ำยาง โดยการนำน้ำยางไปทำให้แห้ง ให้เหลือแต่เฉพาะเนื้อยาง แล้วนำไปชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ความต่างระหว่างน้ำยางสดก่อนที่จะนำไปทำให้แห้ง กับเนื้อยางที่อบแห้งแล้ว ซึ่งจะทำให้ทราบค่าเปอร์เซ็นต์ของเนื้อยาง
นอกจากนี้ได้เยี่ยมชมโรงงานผสมปุ๋ยใช้เองของสหกรณ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ในโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตปุ๋ยผสมตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยผสมที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของพืชที่เหมาะสมกับสภาพของดินในราคาที่เป็นธรรม จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ โดยสนับสนุนเครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติ ขนาด 40 ตัน/วัน จำนวน 1 เครื่อง จักรเย็บกระสอบด้ายคู่กึ่งอัตโนมัติ แท่นจักรจำนวน 1 เครื่อง พร้อมรถโฟล์คลิฟท์ขนาด 3 ตัน จำนวน 1 คัน ซึ่งสหกรณ์ได้เริ่มให้บริการปุ๋ยผสมให้กับสมาชิกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยสหกรณ์ได้จำหน่ายให้แก่สมาชิกแล้ว 612 ราย ปริมาณ 378,122 กิโลกรัม (7,562 กระสอบ) คิดเป็นมูลค่า 5,032,713 บาท ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์กระสอบละ 158 บาท คิดเป็นมูลค่า 1,194,796 บาท
ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรนาทวี จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจใน 4 ประเภท ได้แก่ 1) ธุรกิจรับฝากเงิน มีมูลค่า 36,317,487.49 บาท 2) ธุรกิจสินเชื่อมูลค่ามูลค่า 85,814,626.00 บาท 3) ธุรกิจรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ รวมมูลค่า 62,580.50 บาท และ 4) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายแก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์และผู้คนทั่วไป มีมูลค่า 10,919,665.90 บาท ด้านธุรกิจรวบรวมผลผลิต ทางสหกรณ์ได้ดำเนินการรวบรวมกล้วยหอมจากสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยหอมจำนวน 120 ราย มีกล้วยหอมที่พร้อมตัดส่งให้สหกรณ์จำนวน 14 ราย ปริมาณ 16 ตัน โดยสหกรณ์ได้รวบรวมผลผลิตและส่งพ่อค้าภายในจังหวัดต่อไป
“การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในวันนี้ เพื่อให้เห็นถึงการทำงานและสภาพความเป็นอยู่จริงของเกษตรกรสมาชิก มาเพื่อเพิ่มคุณค่าในชีวิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งเมื่อรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรแล้ว จะนำความต้องการในด้านต่างๆ กลับไปสู่กระทรวงฯ และนำสิ่งที่เกษตรกรต้องการกลับมาให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ทั้งนี้ จะสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยผสมทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เนื่องจากปุ๋ยเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ถ้าเราใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับดิน ผลผลิตที่ได้ก็จะดีมีคุณภาพ และลดการสูญเสีย อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีสหกรณ์บางแห่งมีเครื่องมือไม่เพียงพอต่อการผลิต เช่น ที่โรงงานผสมปุ๋ยใช้เองของสหกรณ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต อ.นาทวี จ. สงขลา มีความต้องการเครื่องมือที่ใช้ในการผสมปุ๋ยเพิ่ม เนื่องจากขณะนี้ผลิตปุ๋ยให้เกษตรกรได้ไม่ทันความต้องการ โดยเกษตรยืนยันว่าปุ๋ยผสมมีคุณภาพดี สามารถออกแบบส่วนผสมให้เหมาะสมกับสภาพดินในพื้นที่ต่างๆได้ดี และรถหัวลาก 18 ล้อ ที่เกษตรกรต้องการใช้เพื่อการขนส่งบรรทุกยาง ก็จะนำเสนอให้กระทรวงฯพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรสมาชิกทุกคนมีความสามัคคีกลมเกลียว มุ่งเน้นการแบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง และช่วยพัฒนาคุณภาพให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน” น.ส.มนัญญา กล่าว
ต่อจากนั้นเยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในการดำเนินงานโรงงานผลิตน้ำยางข้น ซึ่งโรงงานน้ำยางข้นของสหกรณ์แห่งนี้ นับว่ามีศักยภาพในการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราที่ได้มาตรฐานแห่งหนึ่งของพื้นที่ภาคใต้ ด้วยมีปัจจัยพื้นฐานในการทำการผลิตน้ำยางข้นที่ได้มาตรฐาน มีการติดตั้งระบบการกำจัดกลิ่นแอมโมเนียมในขบวนการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นน้ำยางข้น พร้อมทั้งระบบน้ำในการหล่อเลี้ยงระบบการผลิต และการบำบัดน้ำที่ผ่านขบวนการผลิตน้ำยางข้นมาแล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
สำหรับน้ำยางข้นนั้น คือน้ำยางสดที่นำมาทำให้เข้มข้นโดยการหมุน เหวี่ยง หรือ การแยกครีม เพื่อแยกส่วนที่เป็นเนื้อยางออกจากเซรุ่ม และเพิ่มปริมาณเนื้อยางแห้งจาก 30% เป็น 60% สำหรับวิธีการหมุนเหวี่ยงจะเป็นวิธีที่นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศไทย เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อยางแห้งจาก 30% เป็น 64% เนื่องจากน้ำยางสดมีปริมาณน้ำมากไม่เหมาะที่จะนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการขนส่ง จึงมีการนำมาปรับสภาพเป็นน้ำยางข้น ก่อนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป อาทิ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ลูกโป่ง นอนฟองน้ำ หมอนฟองน้ำ เส้นด้ายยางยืด เครื่องมือทางการแพทย์ตุ๊กตา หน้ากาก และหุ่นต่างๆ ซึ่งการผลิตน้ำยางข้นของสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราของสมาชิกสหกรณ์ได้เพิ่มมากขึ้น- ขอบคุณข้อมูลข่าว-ภาพแนวหน้า
เรียบเรียง Mtoday