‘เมธี ลาบานูน’ แห้วลงนายกอบจ.นราฯ เหตุมีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ไม่ครบตามกฎหมาย ด้านนัจมุดดีน อูมาร ลาออกจากโฆษกพรรคประชาชาติ แต่งตัวรอ พร้อมลงนายกฯหากชาวบ้านเรียกร้อง
ตามที่มีรายงานว่า แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) ประชาธิปัตย์ ได้ทาบทามนายเมธี อรุณ นักร้องดังวง ‘ลาบานูน’ ลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส และเจ้าตัวให้ความสนใจกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เนื่องจากมีประสบการณ์ในการเป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลมาแล้ว และมีการหารือกับแกนนำพรรคประชาชาติเพื่อขอการสนับสนุนด้วยนั้น รายงานล่าสุดระบุว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัตินายเมธีแล้วพบว่า ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.นราธิวาสได้ เนื่องจากมีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดนราธิวาสไม่ครบตามที่กฎฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งก่อนวันสมัคร เป็นระยะเวลา 1 ปี แม้นายเมธี เกิดที่อ.แว้ง จ.นราธิวาส แต่ได้ย้ายออกไปเป็นเวลาหลายปี กฎหมายไม่เปิดช่องให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เปิดโอกาสให้คนที่เกิดหรืออาศัยในพื้นที่ ช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็สามารถลงสมัครได้ นายเมธี จึงยุติแผนการลงสมัครนายกอบจ.นราธิวาสในที่สุด
ด้านนายนัจมุดดีน อูมา โฆษกพรรคประชาชาติ เผยว่า ได้ตีดสินใจลาออกจากการเป็นโฆษกพรรคประชาชาติแล้ว แต่ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ เนื่องจากไม่มีเวลาะทำงานในส่วนกลาง ซึ่งขณะนี้ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชนมีภารกิจการทำงานที่ดีมาก ซึ่งตนได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากพรรคให้เป็นคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ซึ่งต้องศึกษากฎหมายเชิงลึกเกือบทุกฉบับที่ร่างขึ้นในสมัยที่ คสช. มีหน้าที่ศึกษารัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประกาศหรือคำสั่ง คสช. ซึ่งมีจำนวนมาก จึงไม่มีเวลาในการทำหน้าที่โฆษกพรรคที่จะต้องทำงานร่วมกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน
‘ได้หารือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคว่า ขอถอนตัวจากการเป็นโฆษกพรรค และยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาภายในทางการเมืองแต่อย่างใด ยังคงทำงานร่วมกันกับพรรคประชาชาติ เป็นสมาชิกพรรคประชาชาติเช่นเดิม โดยหัวหน้าพรรคได้มอบหมายให้คุณสุพจน์ อาวาส รองโฆษกพรรคทำหน้าที่เป็นโฆษกพรรคแทนก่อน และให้คุณมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ กรรมการบริหารพรรคฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นรองโฆษกพรรคก่อน เมื่อมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคจะมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง’ นายนัจมุดดีน กล่าว
ส่วนประเด็นที่ปรากฎเป็นข่าวว่า จะลงสนามการเมืองท้องถิ่น ชิงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นราธิวาสนั้น นายนัจมุดดีน กล่าวว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงสมัครหรือไม่ แต่มองว่านายก อบจ.นราธิวาสคนปัจจุบันนั้นดำรงตำแหน่งมาแล้ว 3 วาระ ระยะเวลา 12 ปี รวมกับรักษาการอีก 4 ปี รวม 16 ปีแล้ว ประชาชนหลายกลุ่มมีความเห็นตรงกันว่า ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้คนอื่นได้มีโอกาสมาบริหารท้องถิ่นบ้าง ให้เกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น
‘ยอมรับว่าถูกทาบทามจากคนหลายฝ่ายว่าอยากให้มาทำหน้าที่บริหาร อบจ. แต่ยังไม่ตัดสินใจ จะขอเวลาฟังเสียงประชาชนว่ามีเสียงอย่างไร จะมีคนอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ หากมีคนอื่นที่เหมาะสมกว่าก็พร้อมจะสนับสนุนคนนั้น แต่หากไม่มีแล้ว ผมก็พร้อมที่จะลงสนามนี้ เพราะมีประสบการณ์เป็นสมาชิกสภาจังหวัดนราธิวาส (สจ.) ตั้งแต่ปี 2532 ได้เป็น สจ.ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ มีอาชีพเป็นทนายความที่เคยร่วมงานกับทนายสมชาย นีละไพจิตร ทำให้ได้รับความรู้ในการช่วยเหลือประชาชนค่อนข้างมาก และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) แล้ว 3 สมัย ทำการเมืองระดับชาติมานานกว่า 20 ปี จึงมีความพร้อมที่จะลงสนามนี้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีคนอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า’ อดีตโฆษกพรรคประชาติ กล่าว
นายนัจมุดดีน กล่าวด้วยว่า หลายพรรคการเมืองในจังหวัดนราธิวาสเห็นตรงกันว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงนายก อบจ. เพราะคนเดิมดำรงตำแหน่งมา 3 สมัยแล้ว จึงมองว่า คะแนนเสียงของพรรคประชาชาติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา เป็นตัวชี้ประการหนึ่งว่ามีคะแนนนิยมสูงที่สุด ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลเช่นพลังประชารัฐก็น่าจะมีแคนดิเดตอยู่แล้ว ส่วนพรรคอื่นๆยังไม่ชัดเจนว่า จะส่งใครลงสมัครบ้าง แต่จากที่ได้พูดคุยกับแกนนำพรรคการเมืองอื่นๆในท้องถิ่นนั้น เห็นตรงกันว่าเรื่องการลงสมัครนายก อบจ.นราธิวาสนั้นขอให้เป็นวาระนราธิวาส อย่าให้เป็นเรื่องของพรรค เพราะปัญหาความเดือดร้อนของชาวนราธิวาสมีมากกว่าปัญหาของพรรคการเมือง
ผู้สื่อข่าวได้ถามต่อว่า หากเสียงประชาชนเรียกร้องให้ลงสมัครนายก อบจ.นราธิวาสจริง จะมีนโยบายทำอะไรบ้าง นายนัจมุดดีนฯ กล่าวว่าสิ่งที่ตนภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต คือการผลักดันพร้อมกับท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา และคุณอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เกิดขึ้นมาได้ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับนราธิวาส มีคณะแพทยศาสตร์ มีคณะพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ นั่นคือความภูมิใจที่เคยทำสำเร็จ และสิ่งที่จะทำต่อไปหากมีโอกาส ประการแรกคือการปรับปรุงเรือเฟอร์รี่ข้ามชายแดนไทย-มาเลเซียที่อำเภอตากใบ ให้มีความทันสมัยและพร้อมใช้งานตลอดเวลา
ประการที่สองคือการพัฒนาตลิ่งแม่น้ำสุไหงโกลก ตามแนวชายแดนตั้งแต่บ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง ไปจนถึงปากแม่น้ำที่บ้านตาบา อ.ตากใบ รวมระยะทาง 60 กม. จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาตามแนวพรมแดนได้ โดยจะผลักดันให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยอื่นๆที่เกี่ยวข้องพัฒนาส่วนนี้ให้ได้
ประการที่สามคือ นราธิวาสมีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย 5 อำเภอ ปัจจุบันมี 3 อำเภอที่มีด่านพรมแดนที่ อ.ตากใบ อ.สุไหงโกลก และ อ.แว้ง ขณะที่ อ.จะแนะ และ อ.สุคิริน ติดพรมแดนมาเลเซียเช่นกันแต่ยังไม่มีด่านพรมแดน ทั้งที่มีเส้นทางทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อกันได้ไม่ห่างไกลมากนัก และเป็นเส้นทางที่สามารถสัญจรตรงไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ในระยะทางเพียง 6 ชม. เท่านั้น ส่วนชาวมาเลเซียในรัฐเปรัคสามารถเดินทางมาขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯได้ที่สนามบินนราธิวาส และต้องผลักดันสนามบินนราธิวาสให้เป็นสนามบินนานาชาติให้ได้
ประการที่สี่ ต้องผลักดันให้มีสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซียคู่ขนานที่ อ.สุไหงโกลก เพื่อรองรับการเดินทางสัญจรของนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ประการที่ห้า ผลักดันด่านชายแดนบูเก๊ะตา ที่ อ.แว้ง ให้ก่อสร้างอย่างเต็มรูปแบบเช่นฝั่งมาเลเซียได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจากการที่ไทยขอให้มาเลเซียเปิดด่าน แต่ด่านฝั่งไทยกลับมีปัญหามาก
ประการที่หก คือสร้างตลาดกลางผลไม้ เพื่อรองรับผลผลิตการเกษตร เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง ให้สามารถขยายตลาดให้เกษตรกรออกไปได้กว้างขึ้น