‘บิ๊กป้อม’นั่งหัวโต๊ะ เคาะต่างด้าว 2 ล้านคนทำงานต่อ ไม่ต้องออกไปต่อใบอนุญาต

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เห็นชอบให้แรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา กว่า 2,000,000 คน ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดปี 2562 และ 2563 นำเข้า MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เผยแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน และ 1 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 31 มีนาคม 2563 และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ ดำเนินการในลักษณะนำเข้าตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ครั้งที่ 1/2562 โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมประชุม

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563 โดยเสนอให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ (ไม่รวมกลุ่มที่นำเข้าตามระบบ MOU) และกลุ่มที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออยู่ในวันที่ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว สามารถดำเนินการในลักษณะนำเข้าตาม MOU โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี โดยประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (ขออยู่ต่อ) ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ส่วนการอนุญาตทำงานจะอนุญาตไม่เกิน 2 ปี โดยแยกเป็น 2 ห้วงเวลา คือ 1.ใบอนุญาตทำงานหมดอายุก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 อนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 2. ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป อนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 สำหรับแรงงานกลุ่มอื่นหรือแรงงานที่ไม่ประสงค์จะดำเนินการตามแนวทางนี้ เมื่อสิ้นสุดการอนุญาตทำงานแล้วต้องเดินทางกลับประเทศ หากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต้องเดินทางเข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายตามระบบ MOU เท่านั้น

สำหรับระยะเวลาดำเนินการเพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรชั่วคราวจะเริ่มวันที่ 15 สิงหาคม 2562 หรือภายใน 15 วันนับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินการจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยแรงงานต่างด้าวสามารถยื่นคำขออยู่ต่อในราชอาณาจักรกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ก่อนระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุด 90 วัน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการ ณ ที่ตั้งสำนักงานของแต่ละหน่วยงานเป็นหลัก และดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยในกรุงเทพมหานครมอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางานเป็นผู้พิจารณา ในส่วนภูมิภาคมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา

ทั้งนี้ พลเอก ประวิตรฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้กระทรวงแรงงานนำแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563 ตามที่ได้เห็นชอบในวันนี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ 2. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับทราบและดำเนินการตามมติที่ประชุม 3. ให้กระทรวงแรงงานประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามกฎหมายให้นายจ้าง/สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าวและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และรับผิดชอบร่วมกัน 4. ให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวดต่อไป

“ขณะนี้ มีแรงงานต่างด้าว ที่จะต้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จำนวน 2,056,467 คน แบ่งเป็น แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กลุ่มที่การอนุญาตจะสิ้นสุดก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 587,533 คน เป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 575,493 คน กลุ่มประมงฯ มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 จำนวน 12,040 คน และกลุ่มที่การอนุญาตจะสิ้นสุดตั้งแต่ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 1,468,934 คน โดยเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม จำนวน 281,777 คน และกลุ่มจัดทำ/ปรับปรุง ทะเบียนประวัติ จำนวน 1,187,157 คน” พลเอก ประวิตรฯ กล่าว