นายชวน กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำหน้าที่ในสภาฯ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายด้าน อาทิ การพิจารณาร่างกฎหมาย โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยเฉพาะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำต้องคำนึงต่อการพิจารณาให้ดี เพราะหากแพ้ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ รัฐบาลจะไม่สามารถอยู่ได้ ขณะที่การเสนอกระทู้ และญัตตินั้น ล่าสุดที่มีผู้เสนอกระทู้ให้พิจารณา จำนวน 12 เรื่อง นั้นตรวจสอบแล้วพบว่ามีความไม่สมบูรณ์ ต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยแก้ไข ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ แต่จากนี้ไปเจ้าหน้าที่จะไม่แก้ไขให้ เพราะจะให้คำแนะนำเพื่อให้สมาชิกฯแก้ไขเอง ขณะที่การพิจารณาญัตติ หรือตอบกระทู้ซึ่งรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น ต้องรอการตอบรับจากรัฐบาลด้วยถึงจะนำไปสู่การพิจารณาในสภาฯ ได้
“ญัตติหรือกระทู้ ที่รัฐบาลเกี่ยวข้อง บางกรณีอาจไม่บรรจุ เพราะต้องรอรัฐบาลตอบกลับว่าพร้อมตอบหรือไม่ สภาฯจะไม่ตั้งหากรัฐบาลไม่พร้อมตอบ รวมถึงญัตติที่ต้องตั้งกรรมาธิการ ซึ่งมีสัดส่วนของรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตามประสบการณ์ผมที่ทำหน้าที่ประธานสภาฯเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีส.ส.ที่ตั้งกระทู้มากที่สุดมาขอรางวัล ผมตอบไปตรงๆ ว่า กระทู้ที่เสนอมาควรไปพิจารณาในสภาตำบล หรือเทศบาลมากกว่า ดังนั้นการตั้งกระทู้ของสมาชิกจากนี้ ต้องคำนึงด้วยว่ามีหน่วยงานใดรับผิดชอบงานในพื้นที่หรือไม่ เพราะการพิจารณาแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา ดังนั้นต้องพิจารณาให้ดี ทั้งนี้ส.ส.มีสิทธินำเรื่องเสนอสภา เพื่อส่งผ่านไปยังผู้รับผิดชอบได้” นายชวน กล่าว
ประธานสภาฯ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก คือ การใช้สิทธิเดินทางของ ส.ส. ผ่านตั๋วฟรี ของสายการบิน, รถไฟ และรถโดยสาร โดยรถโดยสาร พบมีการให้ผู้อื่นใช้สิทธิแทน ขณะที่ค่าโดยสารเครื่องบิน นสมัยนี้ ก็มีผู้ประกอบการมาทวงเงินจากสภาฯ ในสมัยสภาฯ ที่ผ่านมามีผู้ค้างจ่ายรวมเป็นงบ กว่า 5 ล้านบาท ซึ่งกรณีค้างจ่ายค่าโดยสารนั้น ขอให้ระวัง เพราะหาก ส.ส. ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และมีผู้ทราบว่าค้างจ่ายค่าโดยสารเครื่องบิน อาจถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ส่วนบุคคลที่ให้สิทธิผู้อื่นใช้ตั๋วเดินทาง อาจถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสารได้ ขณะที่การเดินทางไปต่างประเทศนั้น ขอให้รักษามารยาท และกาละเทศะ รวมถึงใช้งบประมาณเพื่อศึกษาดูงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่ไปศึกษาดูงานเรื่องซื้อของ