เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างอิหม่าม ซึ่งเป็นผู้รู้ด้านศาสนากับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และศูนยวิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการฮาลาลทั่วประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก
วันที่ 30 เมษายน สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนา รวมคำวินิจฉัย(ฟัตวา) จุฬาราชมนตรีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ อาหารและไม่ใช่อาหาร เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบและวินิจฉัยฮาลาลในประเด็นต่างๆ และความคืบหน้าในการขับเคลื่อนฮาลาลในระดับโลก โดยมีบรรดาอิหม่ามในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 40 คนเข้าร่วมการสัมมนา
สำหรับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีดร.ปกรณ์ ปรียากร อดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า เป็นผู้อำนวยการ
ดร.ปกรณ์ ปรียากร กล่าวว่า เพิ่งกลับจากการประชุมสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยา(SIMIC)ของโอไอซี ที่อิสตันบูล ประเทศตุรกี ในฐานะสมาชิก ซึ่งได้มีการประชุมเพื่อจัดทำมาตรฐานฮาลาลด้านการท่องเที่ยว รวมถึง มาตรฐานการเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานด้านฮาลาล ทั้งการ การขนส่ง การบริหารจัดการ การผลิตในโรงงงาน ที่จะต้องกำหนดเป็นมาตรฐานที่จะต้องเกี่ยวโยงกันทั้งหมด แม้โรงงานจะผ่านการตรวจสอบฮาลาล แต่ระบบการบริหารจัดการ การขนส่ง จะต้องฮาลาลด้วย
‘เมื่อมีการร่างมาตรฐานออกมาแล้ว ก็จะให้บรรดาอิหม่ามเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อเสนอกลับไปให้ที่ประชุมSIMIC ให้การรับรอง เพื่อให้ทุกประเทศมุสลิมนำไปใช้’ ดร.ปกรณ์ กล่าว
สำหรับอิหม่ามในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 40-50 คน ได้เข้าร่วมงานเกี่ยวกับฮาลาลกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลฯ และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต้หลังการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยเข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบฮาลาลร่วมกับฝ่ายกิจการฮาลาลในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดยเข้าไปเสริมการทำงานให้ฝ่ายกิจการฮาลาลในต่างจังหวัดให้มีมาตรฐานเดียวกัน
‘ในพื้นที่ฝ่ายฮาลาลกับผู้ประกอบการอาจมีความสนิทสนมกัน มีความเกรงใจที่จะบอกกล่าวให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หากสถานประกอบการไม่ได้ฮาลาล อิหม่ามก็จะให้คำแนะนำ เป็นการช่วยให้งานตรวจสอบฮาลาลได้มาตรฐาน’
ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การได้อิหม่ามมาช่วยงานด้านฮาลาลนับเป็นแนวทางที่ดี เพราะบรรดาอิหม่ามเป็นคนที่มีความรู้ด้านศาสนา ส่วนศูนย์วิทย์ฯ ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อ 2 ฝ่ายมาเจอกัน จะทำให้งานด้านฮาลาลมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการได้ทำงานร่วมกันมากว่า 1 ปี จะพบว่า พวกเราได้พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ด้านฮาลาลไปมาก ซึ่งบางคนอาจไม่สังเกตตัวเอง
‘ฮาลาลได้สร้างประโยน์ให้กับประเทศไทยมหาศาล จากตัวเลขการส่งออกฮาลาลไปยังประเทศมุสลิมประมาณปีละ 150,000 ล้าน ส่งออกไปยังประเทศที่ไมใชช่มุสลิมประมาณ 150,000 ล้าน และขายในประเทศ อีกประมาณ 400,000 ล้านบาท เป็นมูลค่ามหาศาลที่ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่มุสลิม 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ได้รับประโยชน์ มีเงินเข้ามายังคณะกรรมการกลางอิสลามฯ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ประมาณปีละไม่เกิน 500 ล้านบาท และต่างประเทศให้การยอมรับมาตรฐานฮาลาลของไทย เพราะพวกเราได้ช่วยกันสร้างมาตรฐานขึ้นมา และไทยเป็นประเทศแรก ที่นำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการตรวจสอบฮาลาล’ ดร.วินัย กล่าวกับที่ประชุม
ที่สัมมนาได้มีการนำฟัตวาของจุฬาราชมนตรีเกี่ยวกับฮาลาล มาสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่จะต้องการตรวจสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อาทิ กาแฟขี้ช้าง การใช้สีผสมอาหารจากแมลง เช่น สีคาร์มิน ที่ใช้กระบวนการนำแมลงมาเผาแปรสภาพเป็นสี ความรู้ด้านการใช้แอลกอฮอล์ผสมอาหาร ไม่เกิน 0.5% รวมทั้งประเด็นที่มีความสงสัยในสังคม และมีการตั้งคำถามกันมากอย่างกรณี KFC
‘KFC ที่มีการนำมุสลิมมาขาย และมีการระบุว่า นำไก่ที่ฮาลาลมาปรุงนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป เพราะจากการเข้าไปตรวจสอบของ ดร.สุชาติ เศรษฐมาลีนี ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ไปตรวจสอบโรงเชือดไก่ที่ไม่มีฮาลาลส่งไก่ให้ KFC ความเข้าใจว่า โรงเชือดไก่ของซีพีทุกโรงมีฮาลาล ก็ไม่ใช่ ซี่พีจะส่งไก่ฮาลาลให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการไก่ฮาลาล รวมทั้งกระบวนการผลิตที่ไม่มีมุสลิมร่วมด้วย มีโอกาสที่จะมีสิ่งปนเปื้อนได้’ ดร.วินัย กล่าว
‘ศูนย์วิทย์ฯ ได้สร้างมาตรฐานวัตถุดิบฮาลาล ด้วยการกำหนด H ทำให้อาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่มี H กำกับ ไม่ต้องเสียเวลาเข้ากระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์อีก ทำให้ผู้ประกอบการง่ายในการผลิตมากขึ้น ใครสร้างห้องแลบก็สร้างไป แต่อาจไม่ได้ใช้ เพราะมีมาตรฐานรองรับอยู่แล้ว’ ดร.วินัย กล่าว
ที่ประชุมได้จัดตั้งคณะทำงานจำนวน 8 คน เพื่อประสานงานระหว่างศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ สถาบันฮาลาล และฝ่ายอิหม่ามในการทำงานร่วมกัน
‘ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มีห้องที่จัดไว้ให้เป็นสถานที่ทำงานที่จะให้เข้าไปสลับหมุนเวียนกันทำงานได้ ให้พวกเราได้ใช้เป็นที่ทำงาน จะบอกว่า ไม่ใช่เป็นสถานที่ซ่องสุม เพื่อล้มใคร แต่เป็นการร่วมมือกันทำงาน เพื่อขับเคลื่อนงานฮาลาลให้มีมารฐาน มีประสิทธิภาพ’ ดร.วินัย กล่าว และว่า เพิ่งได้รับหนังสือจากปปช.เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานได้เข้ามาตรวจสอบ ทั้งสตง. ทั้งสำนักนายกฯ กระทรวงการคลัง และเราก็ผ่านทุกครั้ง มีความโปร่งใสในการทำงาน ในการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ความขัดแย้งของพวกเรากันเอง ทำให้มหาวิทยาลัย มีความอึดอัด