บ้านสมเด็จโพลล์ เผย ‘เพื่อไทย’ คะแนนนำลิ่ว ติดโผอันดับ 1 ‘คนกรุง’ อยากให้เป็นรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์’ นำโด่งเป็นนายกฯ
วันที่ 30 ม.ค. ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เปิดเผยว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เดือนมกราคม 2562 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,176 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-27 ม.ค. 2562
ผศ.สิงห์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องความคาดหวังการเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากวันที่ 23 ม.ค. 2562 มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ความตื่นตัวทางการเมืองของพรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติแบบใด ที่ประชาชนคาดหวัง และการตัดสินใจจะเลือกผู้สมัครแบบใด การสังกัดพรรคการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ และคิดว่าผู้ใดที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งในวันที่ 4-8 ก.พ. 2562 เป็นวันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมบัญชีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองต้องแจ้งต่อ กกต. ความคิดเห็นของประชาชนต่อความคาดหวังการเลือกตั้ง ส.ส.เดือน ม.ค. 2562 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากได้ ส.ส.ที่มีคุณสมบัติที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใส มากที่สุด ร้อยละ 41 อันดับที่ 2 มีความเสียสละทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 16 อันดับที่ 3 มีความขยันทุ่มเทในการทำงาน ร้อยละ 15.1 อันดับที่ 4 มีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 14.2 อันดับที่ 5 มีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 9.1 และหากต้องไปเลือก ส.ส.จะตัดสินใจเลือกบุคคลประเภท ผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 45.3 อันดับที่ 2 ผู้ที่มีความเสียสละเพื่อสังคม ทำงานเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 22.2 อันดับที่ 3 ผู้ที่อยู่ในพื้นที่และทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 15.7 อันดับที่ 4 ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติการศึกษาและการทำงานอย่างมากมาย ร้อยละ 8.3 อันดับที่ 5 ผู้ที่เป็นลูกหลาน ตระกูลนักการเมือง ร้อยละ 4.3
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ มากที่สุด ร้อยละ 35.8 อันดับที่ 2 ด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ร้อยละ 19 อันดับที่ 3 ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 18.4 อันดับที่ 4 ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 10.4 อันดับที่ 5 ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 9.1 และปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือก ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ตัวผู้สมัคร ร้อยละ 51.1 และพรรคการเมืองที่สังกัด ร้อยละ 48.9
หากมีการเลือกตั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย มากที่สุด ร้อยละ 26.1 อันดับที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 24.1 อันดับที่ 3 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 14.5 อันดับที่ 4 พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 7.5 อันดับที่ 5 พรรคไทยรักษาชาติ ร้อยละ 6.4
และคิดว่าบุคคลที่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มากที่สุดคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 25.3 อันดับที่ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 20.1 อันดับที่ 3 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 12.1 อันดับที่ 4 นายพานทองแท้ ชินวัตร ร้อยละ 9.3 อันดับที่ 5 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 9.3
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร มีหน้าที่ทำอะไร ร้อยละ 53.1 รองลงมาคือไม่ทราบ ร้อยละ 29.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.1 และคิดว่าจะไปเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 24 เดือนมีนาคม 2562 ร้อยละ 55.4 รองลงมาคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 24.4 และไม่ไป ร้อยละ 20.2