ตะลุมพุกรับเต็ม’พายุปาบึก’ ซ้ำรอยปี 2505 คลื่นอาจสูง 4 เมตร

พายุโซนร้อน “ปาบึก” เคลื่อนถล่มภาคใต้  3-5 มค.นี้ เส้นทางคล้ายพายุแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุกปี 2505 ในทะเลอาจมีคลื่นสูงถึง 4 เมตร

โดนพยากรณ์อากาศประจำวันพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ฉบับที่ 7 ประจำวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ.2562
ลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไปมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วย ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 5 มกราคม 2562

สำหรับประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไปและมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ ส่วนบริเวณเทือกเขาสูงมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 ม.ค. 62 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค. 62 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากไว้ด้วย

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไปกับมีลมแรง

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้.
ภาคเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียส
สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-13 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว กับมีลมแรง
อุณหภูมิต่ำสุด 11-16 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียส
สำหรับบริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคกลาง อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-31 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก อากาศเย็น กับมีลมแรง
อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-32 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-45 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็น กับมีลมแรง
อุณหภูมิต่ำสุด 19-21 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-31 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา บางนา กรุงเทพฯ

สถหรับพายุแฮเรียตในปี 2505 ที่เข้าถล่มแหลมตะลุมพุกและภาคใต้ เป็นพายุที่เริ่มก่อตัวขึ้นจากหย่อมความกดอากาศต่ำเป็นพายุดีเปรสชั่น 78W ตามลำดับการตั้งชื่อนานาชาติ หรือ 6225 ตามลำดับการตั้งชื่อของ JMA (อุตุนิยมวิทยาประเทศญี่ปุ่น)ในทะเลจีนใต้ตอนล่างนอกชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505 แล้วค่อยๆ เคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเข้ามาในอ่าวไทย และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนนอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา จากนั้นก็เปลี่ยนทิศทางตรงมายังจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยในตอนค่ำของวันที่ 25 ตุลาคม ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความเร็วลมสูงสุดวัดที่สถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชได้ 95 กม.ต่อชม. ได้สร้างความเสียหายให้กับแหลมตะลุมพุกและใกล้เคียงอย่างมาก บ้านเรือนพังพินาศ

หลังจากนั้นพายุก็อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนผ่านจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา ลงสู่ทะเลอันดามันในวันที่ 26 ตุลาคม ก่อนจะสลายตัวไปในอ่าวเบงกอลใกล้กับบังกลาเทศ

ในวันที่ 30 ตุลาคม พายุโซนร้อนแฮเรียตได้ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยในขณะขึ้นฝั่งพายุมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 300 กิโลเมตร  ก่อให้เกิดฝนตกหนัก คลื่นพายุหมุนยกซัดฝั่ง ลมกระโชกแรง และน้ำท่วมอย่างฉับพลัน