ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อธิบายเหตุไม่มีคำเตือนสึนามิ ‘การากาตัว’ เหตุเร็ว-แรง 800 กม./ชม. ล่าสุดตายแล้ว 222 คน
ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ระบุ ถึงเหตุภูเขาไฟปะทุและเกิดสึนามิที่การากาตัว อินโดนีเชียว่า เกิดสึนามิที่อินโดนีเซียอีกแล้ว หนนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 43 ราย ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องชาวอินโดนีเซียที่ปีนี้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นหลายครั้ง จึงถือโอกาสมาอธิบายให้เพื่อนธรณ์ฟังครับ
ปีนี้อินโดนีเซียโดนสึนามิ 2 ครั้ง
หนแรกเกิดจากแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 ราย
หนที่สองคือครั้งนี้เกิดจากภูเขาไฟระเบิด ซึ่งอาจทำให้เกิดแลนด์สไลด์ใต้ทะเล
ที่น่าสนใจคือสึนามิทั้ง 2 ครั้ง ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า
ไม่ใช่เพราะระบบแจ้งเตือนมีปัญหา แต่มันมีหลายสาเหตุ
1. สึนามิทั้ง 2 ครั้ง ไม่ได้ส่งผลรุนแรงเป็นวงกว้าง แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้กับจุดเกิดแผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด
คลื่นสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง (800 กม./ชม.) ทำให้เข้าฝั่งก่อนแจ้งเตือนทัน
เช่น ในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น จากภูเขาไฟอานัคการากาตัวไปถึงชายฝั่งรอบช่องแคบซุนดา ระยะทางเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร
2. สภาพภูมิประเทศที่ซับซ้อน อาจทำให้เกิดสึนามิโดยที่ระบบแจ้งเตือนไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เช่น ครั้งที่เกิดช่วงเดือนตุลาคม
หนนี้ก็เช่นกัน หากดูแผนที่ เพื่อนธรณ์จะเห็นว่าซับซ้อนมาก
ทั้งแหลม ทั้งเกาะ ทั้งช่องแคบ มีอยู่เต็มไปหมด
เป็นพื้นที่แห่งเดียวกับที่เคยเกิดมหาภัยพิบัติ 1883 ครั้งที่การากาตัวระเบิด
ภูมิประเทศแบบนี้ ทำให้เกิดแรงบีบอัดน้ำบางจุด แต่บางจุดก็อาจไม่โดนหรือโดนน้อย ยากที่จะเจาะจงลงรายละเอียดได้
3. ปัจจุบัน ชายหาดส่วนใหญ่เริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีผู้คนอาศัย ผิดไปจากสมัยก่อน
แม้แต่พื้นที่เคยโดนสึนามิ ก็ยังมีคนอาศัยเพิ่มมากขึ้น มีโรงแรมสำหรับผู้อยากไปเที่ยวดูภูเขาไฟการากาตัว อันเป็นตำนาน
ยิ่งมีการปะทุเป็นระยะ ก็ยิ่งมีคนอยากดู (ผมก็อยากครับ)
เมื่อเกิดสึนามิ แม้จะเป็นขนาดเล็ก แต่ก็สร้างผลกระทบต่อประชาชนรุนแรงมากขึ้น
จึงอยากเตือนเพื่อนธรณ์ผู้ชอบผจญภัย รวมทั้งเตือนตัวเองด้วย
เมื่อเราเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง เราก็ต้องหาข้อมูลให้มาก และเตรียมตัวระวังไว้มากกว่าการเที่ยวทั่วไป
ทั้งหมดนี้ และอีกหลายสาเหตุที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป ทำให้วงการผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติคงต้องปรับตัวกันยกใหญ่ เพิ่มการศึกษาในส่วนต่างๆ ให้ครอบคลุม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน
เมื่อลองดูประเทศไทย จะเห็นว่าสภาพภูมิประเทศของเราต่างจากอินโดนีเซีย
สำคัญสุดคือจุดกำเนิดสึนามิ
ประเทศไทยไม่ได้มีภูเขาไฟในทะเลเหมือนอินโดนีเซีย ไม่มีการระเบิดแบบฉับพลัน
เกาะภูเขาไฟแบบแอคทีฟในทะเล ใกล้เรามากที่สุดก็อยู่ในอินโนนีเซียนั่นแหละครับ และอยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร
หากดูในเรื่องแผ่นดินไหว จุดกำเนิดแผ่นดินไหว (รอยเลื่อนเปลือกโลก) ใกล้เราที่สุดอยู่ทางทะเลอันดามัน บริเวณเกาะสุมาตรา นิโคบาร์ และอันดามัน
อย่างไรก็ตาม ระยะทางยังห่างไปหลายร้อยกิโลเมตร และเป็นทะเลเปิด เราติดตั้งทุ่นเตือนภัยไว้ น่าจะทราบล่วงหน้า (ถ้าทุ่นยังใช้ได้นะครับ)
นอกจากนี้ เราจะทราบข่าวก่อน แม้จะเป็นหลัก 2 ชั่วโมง แต่ก็ยังทราบก่อน
ไม่เหมือนชาวอินโดหนล่าสุดที่คลื่นเข้ามาแบบไม่ทันรู้ตัว
โดยสรุป เมื่อดูจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด โอกาสที่เกิดสึนามิแบบรุนแรงจนสร้างความเสียหายใน “อ่าวไทย” นับว่ามีน้อยยิ่งนัก
และเนื่องจากอยู่ไกลไปถึงอินโดนีเซีย เราจะทราบล่วงหน้าเป็นเวลานานนับสิบชั่วโมง
จึงไม่ต้องตื่นตระหนก เมื่อได้ยินข่าวน้ำลดผิดปรกติในอ่าวไทย เพราะเกิดขึ้นเป็นระยะ และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสึนามิ
ก่อนสึนามิเข้า น้ำลดต่ำจริง แต่น้ำลดเพราะคลื่นดูดน้ำไป ลดแล้วแป๊บเดียวแค่ไม่กี่นาทีคลื่นก็เข้า
ไม่ใช่ลดล่วงหน้ากันเป็น 2-3 ชั่วโมงจนเป็นข่าวหรือเป็นภาพในไลน์ส่งมาหาเราได้
ในกรณีทะเล “อันดามัน” เราคงต้องระวังนิด เพราะใกล้กับจุดเสี่ยงแผ่นดินไหว มากกว่าอ่าวไทย
แต่เราจะทราบข่าวล่วงหน้าสักแป๊บ และหวังว่าจะมีการตรวจสอบและซักซ้อมระบบเตือนภัยทั้งในทะเลและบนบกอย่างมีประสิทธิภาพ
ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ ผมมักเขียนถึงเสมอ
เพราะถือว่าเมื่อเราสูญเสีย เราควรได้เรียนรู้ เพื่อให้การสูญเสียครั้งต่อๆ ไปน้อยลง
และเพื่อให้เราระวังในสิ่งที่ใช่ ไม่ใช่ตื่นตระหนกไปเสียทุกเรื่อง
ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องชาวอินโดนีเซียอีกครั้งครับ
ส่วนสถาณการณ์ในนอินโดนีเชีย ภูเขาไฟอานักกรากะตัวยังปะทุต่อเนื่อง โดยภูเขาไฟนี้ เริ่มก่อตัวขึ้นใต้ทะเลหลังการปะทุของภูเขาไฟกรากะตัวเมื่อ 90 ปีก่อน และอยู่ในบัญชีภูเขาไฟที่ต้องสังเกตการณ์เนื่องจากยังคงคุกรุ่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเริ่มคุกรุ่นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทำให้เกิดกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม เรือนำเที่ยวเกือบโดนระเบิดลาวากระเด็นตกลงมาจากภูเขาไฟ
ภูเขาไฟอานัก กรากะตัวเกิดขึ้นเมื่อปี 2471 จากการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว ภูเขาไฟแม่ที่อยู่ใกล้กันเมื่อปี 2426 ภูเขาไฟลูกก่อตัวขึ้นจากใต้ทะเล โดยอยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 300 เมตรในปัจจุบัน
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตล่าสุด อยู่ที่ 222 คน สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง