เปิด 4 ปัจจัยโหมกระพือไฟใต้ลุกโชนอีกครั้ง

สถานการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลับมาร้อนระอุต่อเนื่องอีกครั้ง หลังจากห่างหายไประยะหนึ่ง ได้เกิดเหตุรุนแรงไม่เว้นแต่ละวัน ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำของวันอังคารที่ 11 ก.ย.61 คนร้ายซุ่มยิงทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย ขณะเดินทางกลับฐานปฏิบัติการใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังเสร็จสิ้นภารกิจการตั้งด่านตรวจในพื้นที่

และหากนับเฉพาะตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.เป็นต้นมา มีเหตุรุนแรงที่พุ่งเป้าโจมตีชาวบ้านไทยพุทธและเจ้าหน้าที่หลายเหตุการณ์

เช่น วันเสาร์ที่ 2 ก.ย. คนร้ายบุกยิงสองตายายเจ้าของร้านนิคมเฟอร์นิเจอร์ ใน อ.เทพา จ.สงขลา ล่าสุดตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้ว 2 คน

วันเสาร์ที่ 8 ก.ย. คนร้ายบุกโจมตีป้อม อรบ. หรือ ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน ที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทำให้ คุณยายอวบ อุทัย อายุ 75 ปี และลูกชาย คือ นายศรีบุญเรือง อุทัย อายุ 56 ปี ซึ่งเป็นครูฝึก อรบ.เสียชีวิต นอกจากนั้นยังมีภรรยาของนายศรีบุญเรือง ซึ่งเป็นครู และสมาชิก อรบ.อีกคนหนึ่ง ได้รับบาดเจ็บสาหัส

วันอาทิตย์ที่ 9 ก.ย. คนร้ายยังก่อเหตุยิงลูกจ้างโครงการจ้างงานเร่งด่วนของรัฐ หรือ “ลูกจ้าง 4,500” ได้รับบาดเจ็บสาหัสในอำเภอเมืองปัตตานี และยิงพ่อค้ารับซื้อทุเรียน เสียชีวิตใน อ.ธารโต จ.ยะลา ด้วย

สาเหตุที่ทำให้ไฟใต้กลับมาคุโชนในช่วงนี้ หลายฝ่ายพูดกันถึงช่วงเวลา “สับเปลี่ยนกำลัง” ซึ่งหมายถึงช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ ราวๆ เดือน ส.ค.ถึง ก.ย.ของทุกปี กำลังพลของทหาร ตำรวจ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ครบตามวงรอบที่กำหนด เช่น 1 ปี หรือ 2 ปี ก็เตรียมเก็บของกลับบ้าน เพื่อเปิดทางให้กำลังพลชุดใหม่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งยังเป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาระดับสูงของทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองด้วย อย่างกองทัพภาคที่ 4 ก็มีการเปลี่ยนแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่

นี่คือสาเหตุที่พูดกันมาก แต่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงว่า เรื่องสับเปลี่ยนกำลังเป็นหนึ่งใน 4 เหตุปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ช่วงนี้ร้อนแรงผิดปกติ กล่าวคือ

หนึ่ง ช่วงสับเปลี่ยนกำลัง ตามที่ได้อธิบายไปแล้ว โดยในช่วงนี้มาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่จะอ่อนลง และมีช่องโหว่แทบทุกปี

สอง เป็นการประกาศศักดา แสดงศักยภาพ แสดงตัวตนของกลุ่มก่อความไม่สงบ และเพื่อตอบโต้ฝ่ายความมั่นคงที่ให้ข่าวว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่ “เหตุความมั่นคง” แต่เป็นเหตุจากความขัดแย้งส่วนตัว หรือภัยแทรกซ้อน เช่น กลุ่มค้ายาเสพติด สินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน

สาม ต้องการกดดันขับไล่ชาวไทยพุทธออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวทางของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมานานแล้ว แต่ช่วงหลังก่อเหตุถี่ขึ้น โดยเฉพาะเหตุยิงรายวัน

และ สี่ แสดงท่าทีตอบโต้การเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งมาเลเซียได้ตั้งอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ และมีแนวโน้มว่ามาเลเซียจะประกาศนโยบายไม่ให้ผู้ก่อความไม่สงบจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยใช้ดินแดนมาเลเซียในการพักพิง หลบซ่อนตัว หรือสะสมทุน สะสมอาวุธเพื่อมาก่อเหตุในประเทศไทยเหมือนที่ผ่านๆ มา

นี่คือปัจจัย 4 ข้อที่ทำให้สถานการณ์กลับมารุนแรงขึ้นอีกระลอกในช่วงนี้

***ขอบคุณ : กราฟฟิกประกอบเรื่อง จากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
ขอบคุณข้อมูล สำนักข่าวอิศรา