เบียร์ฮาลาลดื่มไม่ได้ ไม่ใช่เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ แต่จากกระบวนการผลิต
ด.ร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตอบคำถามเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ดื่มได้ไหม ระบุว่า เคยอธิบายไปแล้วว่าเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ผลิตโดยการนำเบียร์ชนิดที่มีแอลกอฮอล์มาผ่านกระบวนการสกัดเอาแอลกอฮอล์ออก อาจใช้ระบบสุญญากาศหรือใช้คาร์บอนไดอ็อกไซด์แข็งหรือเทคโนโลยีอื่นๆ เบียร์หรือไวน์ปลอดแอลกอฮอล์ที่เข้าข่ายกลุ่มนี้ ทางประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่รับรองฮาลาล อย่างไรก็ตาม มีคำถามเพิ่มเติมว่าแม้ไม่รับรองฮาลาล แต่หะรอมสำหรับการดื่มหรือไม่ คำถามนี้มีนักวิชาการศาสนาให้คำตอบไว้แล้ว แบ่งเป็นสองส่วน
1. เชค ซัลมาน อัลโอดาห์ (Sheikh Salman al-Oadah) นักฟัตวาคนดังแห่งเว็บไซด์ IslamToday และนักวิชาการอีกหลายคนตัดสินว่าการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ไม่หะรอม เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์ถูกกำจัดออกเกือบหมดแล้ว หากมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึงระดับ 0.5% ซึ่งยังนับว่าต่ำมาก จำเป็นต้องดื่มถึง 23 กระป๋องสำหรับกระป๋องธรรมดาขนาด 330 ซีซี จึงจะได้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ทำให้เมา อย่างไรก็ตาม การดื่ม 23 กระป๋องใช้เวลาพอสมควร ตับสามารถขจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ โดยสรุปคือในปริมาณ 0.5% แอลกอฮอล์จะดื่มสักกี่กระป๋องก็ไม่เมา
2. หนังสือ Sunan Abu Dawud ซึ่งเป็นกิตาบที่ยอมรับกันทั่วไป ฟัตวาที่ 3667 อาจนำมาเทียบเคียงหรือกิยาสได้ คือ อานัสอิบนุมาลิกเล่าว่าอะบูตัลฮาฮ์ถามท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ว่าลูกชายได้รับมรดกจากพ่อเป็นบ่อไวน์ แต่ไวน์เป็นสิ่งหะรอม ลูกชายจะนำไวน์ไปผลิตเป็นน้ำส้มจะได้ไหม (แอลกอฮอล์จะสลายไปหมดจนไม่เหลือ บริโภคอย่างไรก็ไม่เมา) ท่านร่อซู้ลตอบว่าจงนำไวน์ไปทิ้ง เอาไปผลิตเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากนี้ท่านร่อซู้ลเคยกล่าวไว้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากหนึ่งฟารัฆ (6 ลิตร) ทำให้เมา แม้ในที่สุดปริมาณน้อยนิด (มีแอลกอฮอล์ต่ำ) ก็ยังห้าม ตามฟัตวานี้ เบียร์ปลอดแอลกอฮอล์จึงเป็นสิ่งต้องห้าม หะรอมต่อการดื่ม
ในกรณีที่ 1 นั้นเข้าใจว่านักวิชาการอิสลามเหล่านั้นขาดความเข้าใจถึงกระบวนการผลิตเบียร์ปลอดแอลกอฮอล์โดยอาจไม่ทราบว่าเบียร์ปลอดแอลกอฮอล์นั้นเริ่มจากการผลิตเบียร์ปกติก่อนจากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการสกัดแอลกอฮอล์ออก ไม่ต่างจากการนำไวน์ไปผลิตเป็นน้ำส้มสายชู เมื่อไม่เข้าใจจึงทำให้เกิดการหุก่มหรือฟัตวาไปในลักษณะนั้น
สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพิจารณาตามกรณีที่ 2 จึงไม่รับรองเบียร์หรือเครื่องดื่มมึนเมาที่ปลอดแอลกอฮอล์ นักวิชาการอิสลามหลายท่านในบ้านเราเห็นว่าเครื่องดื่มประเภทนี้หะรอมต่อการดื่ม ส่วนใครจะหุก่มหรือตัดสินต่างไปจากนี้ต้องรับผิดชอบกันเอง ในกรณีที่เครื่องดื่มประเภทนี้มีการรับรองฮาลาลจากองค์กรศาสนาอิสลามบางประเทศ ทางองค์กรแสดงตนรับผิดชอบแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีการรับรองฮาลาลน้อยมาก และไม่มีการรับรองในประเทศไทย