“อิดิลอัฎฮา” วันเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม

‘วันนี้ในเชิงสัญญะมีความหมายต่อท่านศาสดาในอิสลามคือนบีมูฮำมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ซ.ล.) อย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันอิดิลอัฎฮาในอดีตคือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามอย่างแท้จริง’

เรื่องนี้ผมเขียนไว้ใน fb dr.winaidahlan วันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2559 สองวันก่อนอิดิลอัฎฮา ฮ.ศ.1437 เห็นว่าเนื้อหายังทันสมัยอยู่จึงขอนำมาลงซ้ำอีกครั้ง โดยดัดแปลงเพียงเล็กน้อย

อีกสามวันนับจากนี้คือวัน “อิดิลอัฎฮา” ในประเทศไทยตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี วันนี้ในเชิงสัญญะมีความหมายต่อท่านศาสดาในอิสลามคือนบีมูฮำมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (ซ.ล.) อย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันอิดิลอัฎฮาในอดีตคือเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามอย่างแท้จริง

ย้อนกลับไปใน ค.ศ.610 ถึง ค.ศ.620 ยาวนาน 11 ปี ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เผยแผ่อิสลามในมักกะฮ์เมืองเกิดของท่านด้วยความยากลำบาก การจากไปของท่านหญิงคอดีญะฮฺผู้ภรรยา และท่านอบูฏอลิบ ผู้เป็นลุงส่งผลให้การเผยแผ่อิสลามลำบากขึ้นเป็นทวีคูณ ท่านนบีจึงตัดสินใจเดินทางไปเผยแผ่อิสลามที่ฏออีฟเมืองบนภูเขาห่างจากมักกะฮฺไปทางใต้ร้อยกิโลเมตร แม้ไม่สำเร็จทว่าท่านได้กลยุทธที่สุขุมขึ้นเพื่อกลับมาเผยแผ่อีกครั้งที่มักกะฮฺโดยท่านเลือกเผยแผ่ในหุบเขามีนาช่วงจบพิธีฮัจญฺยุคก่อนอิสลามโดยใช้เวลาก่อนที่ทุกคนที่มุ่งหน้ามาจากทั่วคาบสมุทรอาระเบียจะพากันแยกย้ายกลับภูมิลำเนาโดยท่านใช้วันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺเป็นวันปฏิบัติการ

ฮัจญฺเป็นพิธีศาสนาที่ทำกันมาเนิ่นนานตั้งแต่ยุคนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม 2,500 ปีก่อนยุคท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) พิธีกรรมตามรูปแบบของชนนอกศาสนาที่บูชาเทพเจ้าหลายองค์ในยุคนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) แม้ผิดเพี้ยนไปมากจากยุคนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) แต่ยังมีการรวมตัวกันที่ทุ่งอารอฟะฮฺเที่ยงวันที่ 9 เดือนซุลฮิจญะฮฺ จากนั้นวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺจึงย้อนกลับมารวมกันที่หุบเขามีนาใช้เวลาสามวันที่เรียกว่าตัชรีกก่อนแยกย้ายกันกลับคืนถิ่น

วันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ ค.ศ.621 ตรงกับปีที่ 12 ของการเป็นศาสดา ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นัดพบกับชาวยาธริบ (มะดีนะฮฺ) 6 คนบนเนินเขาเล็กๆบริเวณหุบเขามีนา เนินเขานี้มีชื่อว่า “อะกอบะฮฺ” เพื่อเจรจากันกระทั่งเกิดเป็นคำสัญญาอัลอะกอบะฮฺครั้งที่ 1 ปีต่อมาคือ ค.ศ.622 วันที่ 10 เดือนซุลฮิจยะฮฺ ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นัดพบชาวยาธริบจำนวน 75 คน โดย 5 คนคือคนที่พบกันในปีที่ผ่านมา การเจรจานำไปสู่คำสัญญาอัลอะกอบะฮฺครั้งที่ 2 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการฮิจเราะฮฺหรือการอพยพจากมักกะฮฺสู่ยาธริบหรือมะดีนะฮฺของท่านนบีและท่านอบูบักร รอฎิยัลลอฮุอันฮฺ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คำสัญญาอะกอบะฮฺจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามอย่างสิ้นเชิง

วันเวลาผ่านไปกระทั่ง ค.ศ.632 ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) นำมุสลิมกว่าเจ็ดหมื่นคนกลับมาทำฮัจญฺครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของท่าน ถึงเวลาเริ่มต้นวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺหลังดวงอาทิตย์ตกซึ่งตรงกับวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.632 ท่านนบีพาบรรดาฮุจญาจหรือผู้แสวงบุญหลั่งไหลออกจากทุ่งอะรอฟะฮฺกลับมาที่หุบเขามีนาโดยพักแรมที่ทุ่งมุสดาลีฟะฮฺ สิ่งแรกที่ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ทำในเช้าวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺซึ่งตรงกับวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ.632 คือการโยนหินเจ็ดก้อนที่เนินเขาอะกอบะฮฺสถานที่ที่เป็นจุดกำเนิดของคำสัญญาอะกอบะฮฺทั้งสองครั้ง อะกอบะฮฺจึงเป็นสถานทีเชิงสัญญะสำหรับท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) หากไม่มีอะกอบะฮฺ ไม่รู้ว่าอิสลามจะเป็นอย่างไร

อัลอะกอบะฮฺในพิธีฮัจญฺคือสถานที่ตั้งของเสาหินใหญ่หรือเสาหินหน้าเดียวหรือ “ญุมรอตอัลอะกอบะฮฺ” (جمرة العقبة) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหินในพิธีขว้างเสาหิน สิ่งที่แตกต่างจากเสาหินอีกสองต้นคืออะกอบะฮฺเป็นเสาหินเดียวที่ฮุจญาตหรือผู้แสวงบุญขว้างหรือโยนหินเจ็ดก้อนยามเช้าวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มุสลิมทั่วโลกพากันเฉลิมฉลองวันตรุษที่เรียกกันว่าอิดิลอัฎฮา

ใครจะตั้งชื่อรองของอิดิลอัฎฮาว่าอย่างไร จะตรงกับวันกุรบานในนครมักกะฮฺหรือไม่ย่อมไม่สำคัญ ทั้งไม่จำเป็นต้องถกเถียงกัน สำหรับผมวันอิดิลอัฎฮานอกจากฉลองพิธีฮัจญฺแล้วยังมีความสำคัญในเชิงสัญญะว่าคือการรำลึกถึง “อะกอบะฮฺ” อันเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์อิสลาม เป็นหิดายะฮฺคล้ายทางนำที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงชี้ทางแก่ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ดังนั้นอิดิลอัฎฮาจึงสำคัญยิ่ง ความเข้าใจของผมเป็นอย่างนั้น

“อิดิลอัฎฮา” วันเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์อิสลามเรื่องนี้ผมเขียนไว้ใน fb dr.winaidahlan วันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2559…

โพสต์โดย Dr.Winai Dahlan เมื่อ วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2018

บทความ โดย
Dr.Winai Dahlan